มัจเฉรวินัย (บาลีวันละคำ 4,240)
มัจเฉรวินัย
ไม่ใช้วินัยอย่างที่ใจคิด
อ่านว่า มัด-เฉ-ระ-วิ-ไน
ประกอบด้วยคำว่า มัจเฉร + วินัย
(๑) “มัจเฉร”
เขียนแบบบาลีเป็น “มจฺเฉร” อ่านว่า มัด-เฉ-ระ รากศัพท์มาจาก มสฺ (ธาตุ = จับต้อง; ตระหนี่) + จฺเฉร ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ
: มสฺ + จฺเฉร = มสฺจฺเฉร > มจฺเฉร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “การจับต้องด้วยตัณหา” (คือยึดสมบัติของตนไว้) (2) “ภาวะที่ปกปิดสมบัติของสัตว์ไว้” (คือปกปิดสมบัติของตนไม่ให้คนอื่นเห็น)
“มจฺเฉร” หมายถึง ความโลภอยากได้, ความขี้ตืด, ความเห็นแก่ตัว, ความริษยา (avarice, stinginess, selfishness, envy)
ลักษณะของ “มจฺเฉร” มี 2 อย่าง คือ –
(1) ไม่อยากให้สมบัติของตนแก่ใคร = ตระหนี่
(2) ไม่อยากให้ใครมีสมบัติเหมือนตนหรือดีกว่าตน = ริษยา
“มจฺเฉร” เขียนแบบไทยเป็น “มัจเฉร-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “มัจเฉระ”
“มัจเฉร-” และ “มัจเฉระ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็เก็บคำที่รูปคำคล้ายกันและมีความหมายทำนองเดียวกันไว้ 3 คำ ดังนี้ –
(1) มัจฉระ : (คำวิเศษณ์) ริษยา; ตระหนี่, เห็นแก่ตัว. (ป.; ส. มตฺสร).
(2) มัจฉริยะ : (คำนาม) ความตระหนี่. (ป.; ส. มาตฺสรฺย).
(3) มัจฉรี : (คำนาม) คนตระหนี่. (ป.; ส. มตฺสรินฺ).
(๒) “วินัย”
บาลีเป็น “วินย” อ่านว่า วิ-นะ-ยะ รากศัพท์มาจาก วิ (วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นี (ธาตุ = นำไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อี ที่ นี เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย (นี > เน > นย)
: วิ + นี = วินี > วิเน > วินย + อ = วินย แปลตามศัพท์ว่า “นำไปอย่างวิเศษ”
“วินย” ในบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) การขับออก, การเลิก, การทำลาย, การกำจัดออก (driving out, abolishing, destruction, removal)
(2) วินัย, จรรยา, ศีลธรรม, ความประพฤติที่ดี (norm of conduct, ethics, morality, good behavior)
(3) ประมวลจรรยา, วินัยสงฆ์, กฎ, จรรยาบรรณหรือพระวินัย (code of ethics, monastic discipline, rule, rules of morality or of canon law)
ความหมายโดยสรุปตามที่เข้าใจกัน “วินย–วินัย” ก็คือ กฎ, ระเบียบแบบแผน, ข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“วินย-, วินัย : (คำนาม) ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ, เช่น วินัยทหาร ทหารต้องยึดมั่นในวินัย; สิกขาบทของพระสงฆ์. (ป., ส.).”
จะเห็นได้ว่า ความหมายของ “วินัย” ที่เข้าใจกันและพจนานุกรมฯ ก็ย้ำเช่นนั้น ก็คือ กฎ, ระเบียบแบบแผน, ข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ
แต่ในที่นี้ “วินัย” ไม่ได้ใช้ในความหมายเช่นนั้น หากแต่ใช้ให้ความหมายว่า การขับออก, การเลิก, การทำลาย, การกำจัดออก (driving out, abolishing, destruction, removal)
มจฺเฉร + วินย = มจฺเฉรวินย (มัด-เฉ-ระ-วิ-นะ-ยะ) > มัจเฉรวินัย (มัด-เฉ-ระ-วิ-ไน) แปลว่า “กำจัดความตระหนี่”
ขยายความ :
“มัจเฉรวินัย” เป็นหลักปฏิบัติข้อหนึ่งเพื่อให้ไปเกิดเป็นพระอินทร์ เรียกว่า “วัตตบท” มี 7 ประการ ดังนี้ –
…………..
มาตาเปติภรํ ชนฺตุํ……….กุเล เชฏฺฐาปจายินํ
สณฺหํ สขิลสมฺภาสํ………เปสุเณยฺยปฺปหายินํ,
มจฺเฉรวินเย ยุตฺตํ………..สจฺจํ โกธาภิภุํ นรํ
ตํ เว เทวา ตาวตึสา…….อาหุ สปฺปุริโส อิติ.
(มาตาเปติภะรัง ชันตุง……..กุเล เชฏฐาปะจายินัง
สัณหัง สะขิละสัมภาสัง…….เปสุเณยยัปปะหายินัง,
มัจเฉระวินะเย ยุตตัง………..สัจจัง โกธาภิภุง นะรัง
ตัง เว เทวา ตาวะติงสา…….อาหุ สัปปุริโส อิติ.)
(1) เลี้ยงมารดาบิดา
(2) มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
(3) กล่าวถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน
(4) ละวาจะส่อเสียด
(5) ประกอบในอันกำจัดความตระหนี่
(6) มีวาจาสัตย์
(7) ข่มความโกรธได้
ทวยเทพชั้นดาวดึงส์เรียกนรชนผู้มีคุณสมบัติเช่นนี้นั่นแลว่าสัปบุรุษ
ที่มา: ปฐมเทวสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 907
และดูเพิ่มเติมที่ สักกวัตถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 2
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่อยากเป็นพระอินทร์ ก็ไม่ได้ว่าอะไร
: แต่การไม่ตระหนี่และริษยาใคร เป็นเรื่องที่ดี
#บาลีวันละคำ (4,240)
21-1-67
…………………………….
…………………………….