บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

The God’s spoon

The God’s spoon

——————–

สมัยที่ผมบวชเป็นสามเณร ที่กุฏิที่พักมีสมุดข่อยอยู่เล่มหนึ่ง ไม่ทราบว่าไปอย่างไรมาอย่างไร เขียนเป็นอักษรขอมทั้งเล่ม ดูขลังดีมาก แต่ข้อความเป็นบทสวดมนต์เจ็ดตำนานซึ่งผมท่องได้

ทีแรกผมก็อ่านไม่ออก แต่อาศัยเดาเอาจากอักษรขอมบางตัวที่ชายไทยสมัยนั้นมักรู้จัก เช่นตัว น (นะ) ตัว ม (มะ) เป็นต้น 

พอเห็นคำที่อ่านว่า “นะโม” (อ่านเดาเอา) แล้วนับตัวอักษรต่อไป ตรงกับคำว่า “ตัสสะ” “ภะคะวะโต” ก็สังเกตว่า ต เต่า อักษรขอมรูปร่างอย่างนี้ ส เสือ รูปร่างอย่างนี้ วิธีเขียนเรียงตัวอักษรเป็นแบบนี้ๆ 

สังเกตและเทียบกับบทสวดมนต์ไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็สามารถอ่านหนังสือขอมในสมุดข่อยเล่มนั้นได้หมดทั้งเล่ม

หนังสือที่เขียนด้วยอักษรขอมมีอยู่แต่ในสมุดข่อย-ใบลาน ที่จารึกพระคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งไม่มีประโยชน์สำหรับวิชาการสมัยใหม่

ตอนนั้นผมนึกแบบดูแคลนว่าคงจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้

———-

อีก ๑๕ ปีต่อมา เมื่อผมออกจากดงขมิ้นไปเที่ยวหางานทำ วันหนึ่งก็ไปเจอประกาศในหนังสือพิมพ์สยามรัฐว่า มูลนิธิแห่งหนึ่งต้องการรับผู้จบเปรียญเอกอุเข้าทำงานเกี่ยวกับการค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา

เปรียญเอกอุ คือ เปรียญธรรม ๙ ประโยคครับ

ผมรู้ดังนั้นก็รีบไปสมัคร

ทางมูลนิธิแห่งนั้นก็ต้อนรับด้วยความยินดี บอกว่าคุณมาถูกที่แล้ว วุฒิของคุณก็ถูกต้องแล้ว

“แต่ขอโทษนะครับ เรารับเฉพาะคนที่อ่านหนังสือขอมได้เท่านั้น เพราะมูลนิธิเรามีโครงการถอดคัมภีร์พระไตรปิฎกที่เป็นอักษรขอมออกมาเป็นอักษรไทย”

ผมยกมือท่วมหัว ขอสมาลาโทษหนังสือขอมที่เคยนึกดูแคลนว่าเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้

เรียกว่ารอดจากการอดตายเพราะอานุภาพของหนังสือขอมแท้ๆ

ทำอะไรเป็น เล่นอะไรได้ อย่าดูถูกไปนะครับ วันหนึ่งอาจมีโอกาสเอามาใช้แก้ปัญหาได้ เหมือนที่ผมใช้จนได้งานทำมาแล้ว

และเหมือนกับอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเจอเมื่อตอนอยู่อินเดีย

—————-

วันหยุดวันหนึ่ง ผมวางแผนไปเที่ยวที่คยา (พุทธคยาที่ผมอยู่เป็นตำบล คยาเป็นจังหวัด) 

ที่ว่าวางแผนก็คือเจียดงบประมาณประจำวันสะสมไว้ได้หลายวันจนเห็นว่าพอจะเป็นค่ารถค่ากิน และพอซื้อของที่อยากซื้อได้เล็กๆ น้อยๆ แต่ถือว่าการได้ไปเห็นภูมิสถานบ้านเมืองเป็นกำไร

ผมไปคนเดียว เพราะเชื่อที่เพื่อนแนะนำว่า อยู่ต่างแดนควรไปไหนมาไหนคนเดียว จะได้ฝึกการแก้ปัญหาไปในตัว มิเช่นนั้นก็จะต้องพึ่งคู่หูกันเรื่อยไป

ถึงคยาตอนสายมากๆ เดินดูตลาด ดูผู้คน สังเกตนั่นนี่ไปเรื่อยๆ แบบสบายๆ จนรู้สึกว่าได้เวลาที่จะต้องหาข้าวกลางวันกินสักมื้อ

ที่ตลาดคยามีร้านอาหารที่ขึ้นป้าย restaurant อยู่หลายร้าน แต่ restaurant ที่คยาสมัยนั้นแต่ละร้าน ใครอย่านึกเป็นอันขาดว่าเป็นภัตตาคารหรูหรา 

เทียบกับบ้านเราแล้ว restaurant ที่นั่นก็คือร้านอาหารตามสั่งที่ขายกันตามตรอกซอกซอยในบ้านเราสมัยนี้นี่เอง

restaurant เราแปลว่า “ภัตตาคาร” 

คำว่า ภัตตาคาร ก็แปลตรงตัวว่า ร้านอาหาร

อินิจะเอายังไงอีกละนายจ๋า !

ผมตบกระเป๋าดูแล้ว รู้สึกว่า แม้จะเป็น restaurant ตามสภาพที่ผมว่านั่นก็เถอะ ก็น่าจะยังแพงไปสำหรับงบประมาณวันนั้น ผมควรเดินหาร้านที่ย่อมเยากว่าอีกสักหน่อย

ในที่สุดผมก็ไปเจอร้านเพิงหมาแหงนเข้าจนได้ 

มีหม้อแกงอยู่ ๒ หม้อ โต๊ะเก้าอี้เก่าๆ สองสามตัว 

รู้สึกถูกใจเหมือนกับว่าได้ไปเจอร้านอาหารสำหรับชนชั้นกลางในอินเดียในสมัยนั้นเข้าแล้ว

ผมไปเล็งดูกับข้าวในหม้อ เห็นมีหน้าตาเละๆ คล้ายฟักทองผัดไข่ของบ้านเรา อีกหม้อหนึ่งดูท่าไม่น่ากิน ผมก็เลยสั่งกับข้าวที่ว่านั่นชามหนึ่ง ข้าวจานหนึ่ง

ตอนสั่งข้าวเปล่า คนขายซึ่งมีท่าทางเป็นชนชั้นกลางในอินเดียในสมัยนั้นเช่นกันเขม้นมองหน้าผมเหมือนไม่แน่ใจ 

ผมมองไม่เห็นหม้อข้าวและไม่ทราบว่าเขามีข้าวเปล่าเหมือนบ้านเราหรือเปล่า

เขายกข้าวและกับมาตั้ง และผมก็พร้อมที่จะกินแล้ว 

แต่ในชามข้าวไม่ได้มีช้อนวางมาด้วย

ผมร้องขอช้อน

คนขายเขม้นมองหน้าผมหนักกว่าครั้งแรก 

เขาฟังอังกฤษสำเนียงราชบุรีของผมออกแน่ๆ แต่สีหน้าของเขาดูวุ่นวายมาก

“สพูน นะ หิ แห ?” 

ผมพยายามพูดฮินดีประโยคเดียวที่พอพูดได้

“นะ หิ – โน โน” เขาตอบหลังจากอึ้งอยู่นาน

“อ้าว” ผมร้องเป็นภาษาไทย แล้วอุทธรณ์ว่าไม่มีช้อนผมจะกินข้าวได้อย่างไร

ผมขอให้เขาช่วยสงเคราะห์ไปหามาจากที่อื่นให้หน่อย 

เขามองไปทางโน้นทางนี้ พูดอะไรงึมงำอยู่นาน

ลงท้ายก็คือหาช้อนไม่ได้นั่นเอง

อะไรมันจะยุ่งยากขนาดนี้หนา ผมชักจะเริ่มโมโหหิวหน่อยๆ

แล้วทันใดนั้นคนขายข้าวแกงก็พอบอกผมด้วยสีหน้ายิ้มๆ

“take by God’s spoon”

———–

ถ้าเป็นภาพยนต์ ตอนนี้ก็คือภาพที่ผมกำลังนั่งมองอาหารบนโต๊ะ 

ภาพโคลสที่ใบหน้าผม แล้วก็ค่อยๆ เป็นภาพเชิงซ้อนย้อนไปสู่อดีต

ผมเห็นตัวเองสมัยทำนาอยู่บ้านนอก กำลังนั่งล้อมวงกินข้าวกับคนในบ้าน

ไม่มีช้อนประจำตัวของแต่ละคน 

จะมีก็ช้อนในชามแกงคันเดียว 

ทุกคนใช้ช้อนคันนั้นตักแกงราดลงในชามข้าว และใช้ช้อนคันเดียวกันนั้นแหละตักน้ำแกงใส่ปากซด

ข้าวที่เข้าปากไม่ต้องใช้ช้อนตัก

ใช้มือเปิบครับ

ในเวลาโน้นคงไม่มีใครได้นึกหรอกว่า วิธีใช้มือเปิบข้าวใส่ปากนั้นสำคัญแค่ไหน เพราะมันเป็นวิธีธรรมชาติที่ทำเป็นกันทุกคน จนไม่ต้องนึก

ทำไมผมลืมไปเสียสนิท

อารยธรรมสมัยใหม่ทำให้เราลืมมรดกดั้งเดิมของมนุษยชาติกันไปเสียสิ้น

————-

ภาพเชิงซ้อนค่อยๆ กลายเป็นภาพตามสถานที่ต่างๆ ในอินเดีย ที่ผู้คนกำลังกินข้าว

สุภาพบุรุษแต่งตัวดีกำลังใช้มือกวาดข้าวคำสุดท้ายเข้าปากแล้วเลียเม็ดข้าวที่ติดตามนิ้ว

ชาวบ้านใช้นิ้วปาดอาหารที่ติดก้นชามแล้วดูดนิ้ว

ภาพโคลสที่มือกำลังหยิบอาหารใส่ปาก

……………

ภาพตัดมาที่ผมกำลังนั่งมองอาหารบนโต๊ะ 

ผมนึกได้ในบัดนั้นว่าชาวบ้านทั่วไปในอินเดียกินข้าวโดยไม่ต้องใช้ชอน !

ใช่ครับ ชาวบ้านทั่วไป

ไม่ใช่ทุกคน

ทำไมผมลืมอดีตของผมไปเสียสนิท

ผมผงกศีรษะเป็นเชิงขอบคุณคนขายข้าว

วันนั้นผมรอดพ้นจากการอดข้าวกลางวันด้วย the God’s spoon ครับ

—————

ทำอะไรเป็น เล่นอะไรได้ อย่าดูถูกไปนะครับ 

วันหนึ่งอาจมีโอกาสเอามาใช้แก้ปัญหาได้ เหมือนที่ผมเคยใช้จนรอดตายมามื้อหนึ่งแล้ว

ขอบคุณ the God’s spoon 

๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *