บาลีวันละคำ

อุณหิส (บาลีวันละคำ 4,243)

อุณหิส

คืออะไร

อ่านว่า อุน-นะ-หิด

บาลีเป็น “อุณฺหีส” อ่านตามสะดวกปากว่า อุน-นฺฮี-สะ

อ่านตามเสียงบาลีควรจะเป็น อุน-หฺนีด-ส (มีเสียง -สะ ลงท้ายครึ่งเสียง)

อุณฺหีส” รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค ตัดมาจาก อุป = เข้าไป,ใกล้, มั่น) นหฺ (ธาตุ = ผูก, พัน) + อีส ปัจจัย แปลง ต้นธาตุเป็น

: อุ + นหฺ = อุนหฺ + อีส = อุนหีส > อุณฺหีส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เข้าไปพันไว้” 

อนึ่ง รูปคำ “อุณฺหีส” อาจสะกดเป็น “อุณฺหิสฺส” ก็ได้

หีส สระอี ส ตัวเดียว เป็นตัวตาม ไม่มีตัวสะกด

หิสฺส สระอิ ส 2 ตัว เป็นตัวสะกดตัวหนึ่ง

หี กับ –หิสฺ มาตราเสียงเท่ากัน คือเป็นคำครุเหมือนกัน

ขยายความ :

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “อุณฺหีส” ว่า อุณหิส, กรอบหน้า, ผ้าโพกศีรษะ, บันได

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุณฺหีส” เป็นภาษาอังกฤษว่า a turban (ผ้าโพกศีรษะ)

บาลี “อุณฺหีส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุณหิส” (อุน-นะ-หิด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อุณหิส : (คำนาม) กรอบหน้า, มงกุฎ. (ป. อุณฺหีส; ส. อุษฺณีษ).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “อุณหิส” สันสกฤตเป็น “อุษฺณีษ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อุษฺณีษ : (คำนาม) ศิโรเวษฏน์, ผ้าโพก; มุกุฏ, รัดเกล้า; a turban; a diadem, a crown.”

สันสกฤต “อุษฺณีษ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุษณีษ์” (โปรดระวัง ฤษีการันต์ ไม่ใช่ ยักษ์การันต์)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุษณีษ์ : (คำนาม) มงกุฎ; กรอบหน้า. (ส.; ป. อุณฺหีส).”

อุณฺหีสอุณหิส เป็นคำเดียวกับที่ปรากฏในพระนามเจ้าฟ้า “มหาวชิรุณหิศ” สยามมกุฏราชกุมารพระองค์แรก (มหา+วชิร+อุณหิศ

วชิรุณหิศ” มีความหมายว่า “มงกุฎเพชร

สรุปว่า อุณหิสอุษณีษ์ มีความหมายเหมือนกัน 

แต่โปรดสังเกตบทนิยามในพจนานุกรมฯ :

อุณหิส : กรอบหน้า, มงกุฎ. 

อุษณีษ์ : มงกุฎ; กรอบหน้า.

เล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ควรมีความหมาย เพียงแต่เราไม่อาจรู้ได้ว่า พจนานุกรมฯ ต้องการจะให้มีความหมายอย่างไร หรือว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้มีความอะไร

แถม :

มีบทสวดมนต์บทหนึ่ง เรียกกันว่า “อุณหิสสวิชัย” ขึ้นต้นว่า “อัตถิ อุณหิสสวิชะโย” ขอนำมาอภินันทนาการเพื่อเจริญธรรม ดังนี้ –

…………..

อัตถิ อุณ๎หิสสะวิชะโย

ธัมโม โลเก อะนุตตะโร

สัพพะสัตตะหิตัตถายะ

ตัง ต๎วัง คัณหาหิ เทวะเต.

อุณหิสวิชัยเป็นธรรมอันยอดเยี่ยมในโลก 

มีอยู่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์

ดูก่อนเทวดา ท่านจงรับเอาไปทรงจำไว้เถิด

ปะริวัชเช ราชะทัณเฑ

อะมะนุสเสหิ ปาวะเก

พ๎ยัคเฆ นาเค วิเส ภูเต

อะกาละมะระเณนะ วา.

พึงป้องกันราชทัณฑ์ 

อมนุษย์ ไฟ 

พยัคฆ์ งู สัตว์มีพิษ ภูตผี

ตลอดจนอกาลมรณะ (ความตายเมื่อยังไม่ถึงกาลอันควร)

สัพพัส๎มา มะระณา มุตโต

ฐะเปต๎วา กาละมาริตัง

ตัสเสวะ อานุภาเวนะ

โหตุ เทโว สุขี สะทา.

พ้นจากมรณะทุกรูปแบบ

เว้นไว้แต่มรณะตามคราวอันควร

ด้วยอานุภาพแห่งอุณหิสวิชัยนั้นแล

ขอเทพยดาจงมีสุขทุกเมื่อเถิด

สุทธะสีลัง สะมาทายะ

ธัมมัง สุจะริตัง จะเร

ตัสเสวะ อานุภาเวนะ

โหตุ เทโว สุขี สะทา.

พึงสมาทานศีลให้บริสุทธิ์ 

ประพฤติธรรมให้สุจริต

ด้วยอานุภาพแห่งอุณหิสวิชัยนั้นแล

ขอเทพยดาจงมีสุขทุกเมื่อเถิด

ลิกขิตัง จินติตัง ปูชัง

ธาระณัง วาจะนัง คะรุง

ปะเรสัง เทสะนัง สุต๎วา 

ตัสสะ อายุ ปะวัฑฒะตีติ.

อุณหิสสวิชัยนี้ 

ผู้ใดเขียนไว้ก็ดี ระลึกถึงก็ดี บูชาก็ดี 

จำทรงไว้ก็ดี ท่องบ่นก็ดี กระทำเคารพก็ดี

ได้สดับผู้อื่นสำแดงก็ดี 

ผู้นั้นย่อมจำเริญอายุยืนนานแล

…………..

หมายเหตุ :

บท “อุณหิสสวิชัย” นี้ เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า เป็นคำพรรณนาอานิสงส์ของ “อุณหิสสวิชัย” ทั้งนั้น แต่ตัว “อุณหิสสวิชัย” จริง ๆ มีข้อความว่าอย่างไร อยู่ที่ไหน ไม่ปรากฏ

ท่านผู้ใดทราบ ขอได้โปรดชี้แนะด้วยเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

อภินันทนาการแด่ผู้หวังพึ่งคาถา

: จะเข้าป่าท่องคาถากันช้างไล่

: ขึ้นต้นไม้อีกด้วยช่วยคาถา

: เหมือนแกงดีมีรสซดโอชา

: เติมน้ำปลาอีกด้วยช่วยน้ำแกง

—————–

– ไม่ทราบนามผู้แต่ง

– ไม่รับรองว่าถูกต้องตามต้นฉบับ

ท่านผู้ใดทราบนามผู้แต่งหรือมีต้นฉบับที่ถูกต้อง

ขอความกรุณาช่วยบูรณาการ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

#บาลีวันละคำ (4,243)

24-1-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *