พฤกษชาติ (บาลีวันละคำ 4,244)
พฤกษชาติ
ก็คือรุกขชาติ
อ่านว่า พฺรึก-สะ-ชาด
แยกศัพท์เป็น พฤกษ + ชาติ
(๒) “พฤกษ”
เป็นรูปคำอิงสันสกฤต อ่านว่า พฺรึก-สะ บาลีเป็น “รุกฺข” (มีจุดใต้ กฺ) อ่านว่า รุก-ขะ รากศัพท์มาจาก –
(1) รุกฺขฺ (ธาตุ = ป้องกัน, ปิดกั้น) + อ (อะ) ปัจจัย
: รุกฺข + อ = รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ป้องกัน” (คือป้องกันแดดได้)
(2) รุหฺ (ธาตุ = เกิด, งอกขึ้น) + ข ปัจจัย, แปลง ห เป็น กฺ (รุหฺ > รุกฺ)
: รุหฺ + ข = รุหฺข > รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดขึ้นบนแผ่นดิน”
บาลี “รุกฺข” สันสกฤตเป็น “วฺฤกฺษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“วฤกุษ : (คำนาม) ‘พฤกษ์,’ ต้นไม้ทั่วไป; a tree in general.”
ในภาษาไทยใช้คงรูปบาลีเป็น “รุกข-” ก็มี ใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “พฤกษ” ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) รุกข-, รุกข์ : (คำนาม) ต้นไม้. (ป.; ส. วฺฤกฺษ).
(2) พฤกษ-, พฤกษ์ ๑ : (คำนาม) ต้นไม้. (ส. วฺฤกฺษ; ป. รุกฺข).
ในที่นี้ ใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “พฤกษ”
(๒) “ชาติ”
บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย
กระบวนการทางไวยากรณ์ :
แบบที่ 1 แปลง ชนฺ เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ
แบบที่ 2 แปลง “น” ที่ (ช-)นฺ เป็น อา : (ช)น > อา (> ช + อา) = ชา + ติ = ชาติ
“ชาติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –
(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)
(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)
(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)
(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้ –
(1) การเกิด, กำเนิด, มักใช้ว่า ชาติเกิด หรือ ชาติกำเนิด เช่น ถ้าทำไม่ดีก็เสียชาติเกิด,
(2) ความมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สบายทั้งชาติ.
(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์, เช่น ชาตินักรบ ชาติไพร่.
(4) ประเทศ เช่น รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์.
(5) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ; ประชาชาติ ก็ว่า.
(6) กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน.
(7) ชนิด, จำพวก, ชั้น, หมู่.
(8 ) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น รสชาติ หรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ.
ในที่นี้ “ชาติ” ใช้ในความหมายตามข้อ (8 ) ภาษาบาลีไวยากรณ์เรียกว่า “ศัพท์ สกรรถ” (สับ-สะ-กัด) หมายถึงคำที่นำมาต่อท้ายคำอื่น แต่คำที่ถูกต่อท้ายคงมีความหมายเท่าเดิม (“สกรรถ” : สก = ของตน + อรรถ = ความหมาย)
รุกฺข + ชาติ = รุกฺขชาติ บาลีอ่านว่า รุก-ขะ-ชา-ติ แปลตามศัพท์ว่า “ชาติแห่งต้นไม้” แต่ความหมายก็คือ “ต้นไม้” นั่นเอง
“รุกฺขชาติ” ในภาษาไทยใช้เป็น “รุกขชาติ” (ไม่มีจุดใต้ ก) อ่านว่า รุก-ขะ-ชาด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รุกขชาติ : (คำนาม) ต้นไม้, หมู่ไม้.”
“รุกขชาติ” ใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “พฤกษชาติ” อ่านว่า พฺรึก-สะ-ชาด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พฤกษชาติ : (คำนาม) ต้นไม้, จำพวกต้นไม้.”
อภิปรายขยายความ :
สรุปว่า รุกขชาติ – พฤกษชาติ มีความหมายเหมือนกัน
แต่โปรดสังเกตบทนิยามในพจนานุกรมฯ :
– รุกขชาติ : ต้นไม้, หมู่ไม้.
– พฤกษชาติ : ต้นไม้, จำพวกต้นไม้.
ยังไม่ทราบเหตุผลว่า ทำไมจึงนิยามไม่เหมือนกัน
อนึ่ง โปรดระวัง “พฤกษชาติ” คือ “พฤกษชาติ”
อย่าพูดเพี้ยนเขียนผิดเป็น “พฤกษาชาติ”
“พฤกษ-”
ไม่ใช่ “พฤกษา-”
แบบเดียวกับ “บุปผชาติ”
ไม่ใช่ “บุปผาชาติ”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พูดถูกเขียนถูกอาจไม่ได้ช่วยให้ได้เงินเดือนสูงขึ้น
: แต่พูดเพี้ยนเขียนผิดทำให้ค่าของภาษาต่ำลง
#บาลีวันละคำ (4,244)
25-1-67
…………………………….
…………………………….