ประชาพิจารณ์ (บาลีวันละคำ 612)
ประชาพิจารณ์
อ่านว่า ปฺระ-ชา-พิ-จาน
ประกอบด้วย ประชา + พิจารณ์
“ประชา” บาลีเป็น “ปชา” (ปะ-ชา) หมายถึง คน, ผู้คน, รุ่นของคน, ผู้สืบตระกูล, ลูกหลาน, สัตว์โลก, มนุษยชาติ, ประชาชน (ดูเพิ่มเติมที่ “ประชาชน” บาลีวันละคำ (466) 24-8-56)
“พิจารณ์” บาลีเป็น “วิจารณ” (วิ-จา-ระ-นะ) แปลว่า (1) การสืบสวน, การแสวงหา, การเอาใจใส่ (investigation, search, attention) (2) การจัดแจง, การวางแผน, การดูแล; แผนการ (arranging, planning, looking after; scheme)
พนจ.42 เก็บคำว่า พิจาร, พิจารณ์, พิจารณา ไว้ในคำตั้งชุดเดียวกัน บอกความหมายว่า “ตรวจตรา, ตริตรอง, สอบสวน”
“ประชาพิจารณ์” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบภาษาอังกฤษว่า public hearing แต่เดิมภาษาไทยใช้คำว่า “ไต่สวนสาธารณะ”
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล hearing ว่า (1) การฟัง (2) ความเอาใจใส่ (3) การพิจารณา (4) ระยะใกล้พอที่จะได้ยิน
โปรดสังเกตว่า –
(1) “วิจารณ” ในบาลีกับ hearing ในภาษาอังกฤษ มีความหมายใกล้เคียงกัน
(2) ฝรั่งไม่ได้แปล “วิจารณ”ว่า hearing
(3) “วิจารณ” ในบาลีกินความกว้างขวางกว่า “พิจารณ์” ในภาษาไทย และ hearing ในภาษาอังกฤษ
ศ. ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน ขยายความไว้ว่า –
ประชาพิจารณ์ หมายถึง รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องที่มีผลกระทบชีวิตของประชาชนทุกคน. การทำประชาพิจารณ์ควรจัดให้ได้รับความคิดเห็นจากประชาชนทุกหมู่เหล่า และทำในวงกว้างเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สะท้อนความคิดเห็นจากประชาชนอย่างแท้จริง ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งที่มีผลต่อประชาชนจำนวนมาก
—————–
ถามก่อนทำ : ดี
ทำก่อนถาม : ไม่ดี
ทำไม่ดี ไม่ว่าจะถามก่อนทำหรือทำก่อนถาม : เลว
18-1-57