บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

พุทธวิธีแห่งการแสวงหาปัญญา

พุทธวิธีแห่งการแสวงหาปัญญา

—————————

ผมมีคำถามครับ คือผมอยากทราบว่า —

๑ บุคคลที่บรรลุธรรมเป็นโสดาบัน เมื่อตายไปจะเกิดเป็นมนุษย์อีกหรือไม่

๒ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็แปลว่า-มนุษย์เราอาจเป็นโสดาบันตั้งแต่เกิด คือเป็นโสดาบันตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา-ก็ได้ ใช่หรือไม่ (เพราะจิตของผู้บรรลุอริยมรรคจะไม่กลับมาเป็นปุถุชนอีก)

คำถามทั้ง ๒ ข้อนี้มีคำอธิบายอย่างไร จงบรรยาย

เรื่องนี้ผมพยายามหาคำตอบมานานแล้ว แต่ยังไม่พบคำตอบ

ขอแรงหน่อยนะครับญาติมิตรทั้งหลาย-โดยเฉพาะท่านที่เรียนบาลี เป็นมหาเปรียญ และท่านที่เชี่ยวชาญพระอภิธรรมซึ่งสามารถอธิบายสภาวะจิตได้อย่างลึกซึ้ง

ขอแรงช่วยกันค้นคว้าหาคำตอบให้ที

ไม่เอาคำตอบประเภท–

ผมเข้าใจว่า…

ฉันคิดว่ามันน่าจะ…

….

แบบนี้ไม่เอานะครับ

เอาคำตอบประเภทที่ค้นคว้าหลักคำสอนมาตอบ

ไม่ใช่ตอบตามความเข้าใจของผู้ตอบ

พูดอย่างนี้ ก็จะรู้สึกว่า-เอ มันก็ยากนะสิ ใครจะไปรู้ว่าคำตอบอยู่ที่คัมภีร์เล่มไหน

เห็นไหมครับว่า เรามีเรื่องที่ยังไม่รู้อีกเยอะเลย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องในสายวิทยาการของเราเองแท้ๆ

เรียนบาลี-ก็เพื่อตอบปัญหาแบบนี้แหละครับ

คำสอนของพระพุทธเจ้า-คือพระธรรมวินัย-ท่านบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี

ถ้าเรื่องนี้ท่านสอนไว้ ท่านอธิบายไว้ หรือท่านตอบไว้ มันก็ควรจะมีอยู่ในคัมภีร์ คือพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาต่างๆ

เราเรียนบาลีก็เพื่อจะได้สามารถอ่านคัมภีร์เหล่านี้ได้

ค้นหาความรู้-หาคำตอบจากคัมภีร์ได้

ข้อผิดพลาดของพวกเราก็คือ ไม่ได้เรียนบาลีเพื่อจะเอาความรู้บาลีไปศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์-ซึ่งเป็นภาษาบาลี

แต่เรียนบาลีด้วยจุดประสงค์อย่างอื่น

เช่น-เรียนเพื่อสอบได้

แล้วเอาวุฒิจากการสอบได้เป็นสะพานก้าวไปทำกิจอย่างอื่น

กิจอะไรบ้างก็ไม่รู้แหละ สารพัดกิจ-ยกเว้นกิจคือศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาต่างๆ

ศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ก็เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องจำเป็น ไม่ใช่ว่าไม่ดี ไม่จำเป็น แต่ตอนนี้ขอไปทำกิจอย่างอื่นที่จำเป็นกว่าก่อน ไว้มีโอกาสแล้วจะลองค้นคว้าดู

เราคิดกันอย่างนี้

พูดอย่างนี้ ผมก็ได้ยินเสียงสวนกลับมาว่า – ก็แล้วมีใครเขาเรียนเพื่อแบบที่คุณว่านั้นกันบ้างเล่า มีแต่คุณคนเดียวเท่านั้นแหละที่พร่ำเพ้ออยู่แต่เรื่องค้นคว้าคัมภีร์

คำก็คัมภีร์ สองคำก็คัมภีร์

พวกนักคัมภีร์

บ้าคัมภีร์

บูชาคัมภีร์

คิดเองไม่เป็น

——————–

ผมก็คงพูดซ้ำคำเดิม-พระพุทธศาสนามีมาก่อนเราเกิด

พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

ไม่ใช่คำสอนของหลวงพ่อนั่น หลวงปู่โน่น อาจารย์นี่

หลวงพ่อ หลวงปู่ อาจารย์ ท่านก็ต้องเอาคำสอนมาจากพระพุทธเจ้า เพราะท่านไม่ได้ตรัสรู้เอง

จะเชื่อจะเลื่อมใสจะศรัทธาคำสอนของหลวงพ่อหลวงปู่อาจารย์ ก็เชิญ แต่ควรต้องรู้ว่า-แล้วพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องนั้นๆ ไว้อย่างไร

จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องนั้นๆ ไว้อย่างไร ก็ต้องตามไปดูให้ถึงต้นน้ำ-คือคัมภีร์

ดูแล้ว รู้แล้ว คราวนี้แหละเป็นสิทธิของเรา เป็นหน้าที่แห่งสติปัญญาของเราที่จะวินิจฉัยเลือกเฟ้นตัดสินว่าจะเชื่อใคร

เห็นไหมครับว่า-ไม่ได้ตัดโอกาสที่จะเชื่อจะนับถือจะศรัทธาหลวงพ่อหลวงปู่อาจารย์ทั้งหลายเลยแม้แต่น้อย

เราผิดพลาดกันมากก็ตรงนี้-ตรงที่ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างไร

เราส่วนมากก็เลยไปเอาคำสอนของหลวงพ่อหลวงปู่อาจารย์มาเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

จับกันที่ปลายน้ำ

แต่ไม่ไปให้ถึงต้นน้ำ

คงจะมีหลายท่านบอกว่า เออ ถ้าจะรอให้ไปถึงต้นน้ำก่อนก็คงตายก่อนเท่านั้นเอง ไม่ต้องทำอะไรกันละ

ขอได้โปรดทำความเข้าใจให้ถูกประเด็นนะครับ

หลักปฏิบัติขั้นพื้นฐาน เช่น ทาน ศีล ภาวนา เหล่านี้มีอยู่แล้ว ชัดเจนแล้ว ไม่ต้องรอไปอ่านคัมภีร์ก่อนจึงจะปฏิบัติได้

แต่ทำได้ทันที เดี๋ยวนี้

วันนี้ทำทานหรือยัง

ถ้ายัง

ทำซะ

วันนี้ถือศีลหรือยัง

ถ้ายัง

ถือซะ

วันนี้บำเพ็ญจิตภาวนาหรือยัง

ถ้ายัง

บำเพ็ญซะ

ข้อสำคัญอยู่ตรงที่-หาความรู้ที่ถูกต้องชัดเจนไปด้วยว่า –

ให้ทานอย่างไรถูกต้อง

รักษาศีลอย่างไรถูกต้อง

เจริญภาวนาอย่างไรถูกต้อง

ตรงนี้แหละที่เราพลาดกันมาก

คือทำไปตามที่ตัวเองเข้าใจ

หรือตามที่มีคนบอก

แต่ไม่ได้ศึกษาหาความรู้ไปถึงต้นน้ำ

เพราะฉะนั้น หาความรู้ที่ถูกต้อง

อย่าคิดเอาเอง

หรือแม้แต่-เพียงแค่เชื่อตามที่อาจารย์ทั้งหลายบอก

—————

ย้อนกลับไปที่คำถามข้างต้น

อยากรู้จริงๆ นะครับ ไม่ใช่ลองภูมิใคร

ที่พรรณนาเรื่องการศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์มายืดยาวก็เพื่อ-ปรับความเข้าใจ โดยเฉพาะกับผู้ที่เรียนบาลี

เราต้องปรับทัศนคติกันใหม่หมด

เพราะพลาดกันมายาวนานแล้ว

หยุด แล้วหันกลับมาตั้งเป้าหมายให้ถูกทิศ

ดีกว่าเดินหน้าผิดๆ กันต่อไป

เรียนบาลีเพื่อค้นคว้าพระคัมภีร์หาความรู้ที่ถูกต้อง

แล้วเอาความรู้นั้นมาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตจริง

ต่อจากนั้น เมื่อมีโอกาสก็บอกกล่าวหรือตอบคำถามให้แก่ผู้ที่สนใจ

ตอบตามหลักความรู้ในคัมภีร์อันเป็นต้นน้ำแห่งคำสอนก่อน

ต่อจากนั้น ตัวเองมีความเห็นอย่างไรก็แสดงออกไปโดยเสรี

นี่คือพุทธวิธีแห่งการแสวงหาปัญญา

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑ ธันวาคม ๒๕๖๒

๑๖:๐๙

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *