ดวงมาน (บาลีวันละคำ 4,268)
ดวงมาน
ไม่ใช่ ดวงมาลย์
อ่านวา ดวง-มาน
ประกอบด้วยคำว่า ดวง + มาน
(๑) “ดวง”
เป็นคำไทย ถือโอกาสหาความรู้จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งให้คำนิยามไว้ดังนี้ –
“ดวง : (คำนาม) คําเรียกสิ่งที่มีลักษณะเป็นรูปกลม ๆ หรือที่เห็นเป็นวง ๆ เช่น ดวงดาว ดวงไฟ ดวงตรา ดวงกสิณ, และบางสิ่งที่ไม่มีรูป เช่น ดวงชีวิต ดวงวิญญาณ; ลักษณนามเรียก จิต วิญญาณ หรือสิ่งที่มีแสงสว่าง เช่น ดาว ไฟฟ้า ตะเกียง ว่า ดวง; ใช้ประกอบคําอื่นเป็นคําเปรียบเทียบ เช่น ดวงใจ ดวงตา ดวงสมร หมายความถึงสิ่งที่เป็นที่รักยิ่ง หญิงที่รัก หรือ ลูกที่รัก; ผังที่แสดงตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ต่าง ๆ ในท้องฟ้าขณะที่เกิดเหตุการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะดวงชะตากำเนิด ซึ่งกำหนดความเป็นไปในชีวิตของบุคคลต่าง ๆ ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ เช่น ผูกดวง, เรียกเต็มว่า ดวงชะตา, ความเป็นไปในชีวิตตามกำหนดของดวงชะตา เช่น ดวงขึ้น ดวงตก.”
(๒) “มาน”
ในคำว่า “ดวงมาน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “มาน ๒” บอกไว้ว่า –
“มาน ๒ : (คำนาม) ความถือตัว; ใจ, ดวงใจ, เช่น ดวงมาน. (ป., ส.).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “มาน” ในที่นี้คือ ใจ, ดวงใจ และให้ตัวอย่างไว้ว่า “ดวงมาน” เป็นอันยืนยันว่า คำนี้สะกด “ดวงมาน” และ “มาน” แปลว่า ใจ, ดวงใจ
“มาน” ถ้าเป็นคำบาลี อ่านว่า มา-นะ มีความหมาย 2 นัย กล่าวคือ
นัยหนึ่ง “มาน” หมายถึง –
(1) ความถือตัว, ความหยิ่ง, ความยโส (pride, conceit, arrogance)
(2) เกียรติ, การนับถือ (honour, respect)
อีกนัยหนึ่ง “มาน” หมายถึง –
(1) เครื่องวัด (measure)
(2) เครื่องตวงชนิดหนึ่ง (a certain measure)
จะเห็นได้ว่า ในบาลี “มาน” ไม่ได้หมายถึง ใจ (mind, thought)
คำบาลีที่หมายถึง ใจ และมีรูปคำใกล้กับ “มาน” คือ “มน”
“มน” อ่านว่า มะ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อ (อะ) ปัจจัย
: มน + อ = มน แปลตามศัพท์ว่า “ตัวรู้”
(2) มา (ธาตุ =นับ, กะ, ประมาณ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบสระที่สุดธาตุ (มา > ม)
: มา > ม + ยุ > อน : ม + อน = มน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กำหนดนับอารมณ์”
“มน” หมายถึง ใจ, ความคิด (mind, thought)
อภิปรายขยายความ :
เป็นไปได้ว่า “มน” นั่นเอง ไทยเราเอามาใช้แล้วแปลงรูปเป็น “มาน” ซึ่งไปพ้องกับ “มาน” ในบาลีที่มีศัพท์นี้อยู่แล้ว (ดูความหมายข้างต้น) เป็นเหตุให้พจนานุกรมฯ บอกความหมายของ “มาน” ว่า “ความถือตัว” อันเป็นความหมายของ “มาน” (มา-นะ) ในบาลี
อย่างไรก็ตาม บาลียังมี “มานส” (มา-นะ-สะ) อีกคำหนึ่ง ที่หมายถึง ใจ อาจเป็นไปได้ว่า ไทยเราเอา “มานส” มาใช้แล้วแก้รูปให้เป็น “มาน” ตามสะดวกลิ้นไทย
สรุปว่า “มาน” ในภาษาไทยที่หมายถึง ใจ อาจมาจาก “มน” หรือ “มานส” ในบาลี แต่ไม่น่าจะเป็นคำเดียวกับ “มาน” ในบาลี (พจนานุกรมฯ บอกว่า “มาน” คือ ความถือตัว (ตามความหมายในบาลี) หมายถึง ใจ, ดวงใจ ด้วย)
และสรุปว่า คำไทยที่ออกเสียงว่า ดวง-มาน และหมายถึง ใจ, ดวงใจ สะกดว่า “ดวงมาน” –มาน น หนู ไม่ใช่ “ดวงมาลย์” อย่างที่มักสะกดกันผิด ๆ
“-มาลย์” สะกดอย่างนี้ มาจาก “มาลฺย” ในบาลี (ลฺ เป็นตัวสะกดและออกเสียงครึ่งเสียง อ่านว่า มาน-เลียะ จะได้เสียงที่ตรงที่สุด) ซึ่งเกิดจาก มาลา + ณฺย ปัจจัย, ลบ อา ที่ –ลา และลบ ณฺ
: มาลา + ณฺย = มาลาณฺย > มาลณฺย > มาลฺย แปลเช่นเดียวกับ มาลา คือ ดอกไม้, พวงมาลัย (flower, garland of flowers)
“มาลฺย” เขียนแบบไทยเป็น มาลย อ่านว่า มา-ละ-ยะ เราเอามาใช้เป็น “มาลัย” (มา-ไล) และ “มาลย์” (มาน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) มาลย์ : (คำแบบ) (คำนาม) ดอกไม้, ดอกไม้ที่ร้อยเป็นพวง. (ป., ส. มาลฺย).
(2) มาลัย : (คำนาม) ดอกไม้ประดิษฐ์แบบไทยลักษณะหนึ่ง โดยการนำดอกไม้ กลีบดอกไม้ และใบไม้ มาร้อยด้วยเข็มแล้วรูดออกมาใส่ด้ายผูกเป็นพวง มีลักษณะต่าง ๆ กัน, พวงมาลัย ก็เรียก. (เทียบทมิฬ มาไล).
เมื่อพูดว่า ดวง-มาน คนพูดย่อมมุ่งถึง ใจ หรือดวงใจ ไม่ได้มุ่งจะพูดถึงดอกไม้ที่ร้อยเป็นพวง เพราะฉะนั้น จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องสะกดเป็น “ดวงมาลย์”
นอกจากเข้าใจผิดคิดไปเอง หรือข้ออ้างสากลว่า-เคยมือ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เคยมือ ก็ตีมือให้รู้จักกลัว
: อย่าปล่อยให้เคยตัว จะแก้ยาก
#บาลีวันละคำ (4,268)
18-2-67
…………………………….
…………………………….