วิภวตัณหา (บาลีวันละคำ 4,269)
วิภวตัณหา
อยากไม่เป็น
ไม่ใช่-ไม่อยากเป็น
อ่านว่า วิ-พะ-วะ-ตัน-หา
ประกอบด้วยคำว่า วิภว + ตัณหา
(๑) “วิภว”
อ่านว่า วิ-พะ-วะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ภู > โภ > ภว)
: วิ + ภู = วิภู + ณ = วิภูณ > วิภู > วิโภ > วิภว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้เป็นอยู่ได้” (2) “สิ่งอันผู้คนใช้สอยโดยพิเศษ” (3) “ภาวะที่ปราศจากความมี” (4) “ภาวะที่ไม่มี”
“วิภว” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) อำนาจ, ความมั่งคั่ง, ความรุ่งเรือง (power, wealth, prosperity)
(2) วิภพ, ความไม่ทรงอยู่, ความสิ้นสุดแห่งชีวิต, การดับสูญ (non-existence, cessation of life, annihilation)
ในที่นี้ “วิภว” ใช้ในความหมายตามข้อ (2)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “วิภว-” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“วิภว– : (คำนาม) ความเจริญ; สมบัติ; ความไม่มีไม่เป็น. (ป., ส.).”
(๒) “ตัณหา”
เขียนแบบบาลีเป็น “ตณฺหา” อ่านตามสะดวกว่า ตัน-หา อ่านตามสำเนียงบาลีว่า ตัน-หฺนา รากศัพท์มาจาก ตสฺ (ธาตุ = กระหาย) + ณฺห ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ
: ตสฺ + ณฺห = ตสณฺห + อา = ตสณฺหา > ตณฺหา แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่หื่นกระหาย” “เหตุให้หื่นกระหาย” “เหตุให้กระหายอยากจะดูดดื่ม” “เหตุให้อยากได้อยากทำสิ่งที่ต่ำทราม”
“ตณฺหา” หมายถึง ความต้องการ, ความอยาก, ความตื่นเต้น, ความเร่าร้อนเพราะความอยากอันยังไม่สมปรารถนา (craving, hunger for, excitement, the fever of unsatisfied longing); ความโหยหา, ความกระหาย (drought, thirst)
บาลี “ตณฺหา” สันสกฤตเป็น “ตฺฤษฺณา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “ตฤษ” “ตฤษา” และ “ตฺฤษฺณา” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) ตฤษ, ตฤษา : (คำนาม) ความกระหาย, ความปรารถนา, กาม, กามานล; กามสุดา; thirst, wish, desire, lust; the daughter of Kāma, the deity of love.
(2) ตฺฤษฺณา : (คำนาม) ความกระหาย, ความใคร่; thirst, desire or wish.
“ตณฺหา” เขียนแบบไทยเป็น “ตัณหา” นอกจากใช้ว่า “ตัณหา” แล้วยังมีคำว่า “ตฤษณา” (ตฺริด-สะ-หฺนา) “ดำฤษณา” (ดํา-ริด-สะ-หฺนา) ซึ่งออกมาจาก “ตฺฤษฺณา” ในสันสกฤตอีกด้วย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) ตัณหา : : (คำนาม) ความทะยานอยาก, โดยทั่วไปใช้หมายถึงความใคร่ในกาม. (ป.; ส. ตฺฤษฺณา).
(2) ตฤษณา : (คำแบบ) (คำนาม) ความปรารถนา, ความอยาก, ความดิ้นรน. (ส.; ป. ตณฺหา).
(3) ดำฤษณา : (คำนาม) ความปรารถนา, ความดิ้นรน, ความอยาก, ความเสน่หา. (ส. ตฺฤษฺณา; ป. ตณฺหา).
วิภว + ตณฺหา = วิภวตณฺหา (วิ-พะ-วะ-ตัน-หา) แปลว่า “ความอยากในความไม่มี” “ความอยากในความไม่เป็น”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “วิภวตัณหา” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“วิภวตัณหา : (คำนาม) ความปรารถนาในความไม่มีไม่เป็น. (ป.).”
ขยายความ :
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิภวตณฺหา” ตามศัพท์ว่า “craving for life to end” (ความใคร่ที่จะให้ชีวิตถึงที่สุด) และไขความว่า desire for non-existence (ความอยากที่จะไม่ทรงอยู่)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “วิภวตัณหา” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
วิภวตัณหา : ความอยากในวิภพ คือความทะยานอยากในความไม่มีไม่เป็น อยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ อยากตายเสีย อยากขาดสูญ อยากพรากพ้นไปจากภาวะที่ตนเกลียดชังไม่ปรารถนา, ความทะยานอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ (ข้อ ๓ ในตัณหา ๓)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [74] อธิบายเรื่อง ตัณหา 3 ซึ่งมี “วิภวตัณหา” รวมอยู่ด้วย ดังนี้ –
…………..
ตัณหา 3 (ความทะยานอยาก — Taṇhā: craving)
1. กามตัณหา (ความทะยานอยากในกาม, ความอยากได้กามคุณ คือสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้งห้า — Kāma–taṇhā: craving for sensual pleasures; sensual craving)
2. ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ, ความอยากในภาวะของตัวตนที่จะได้ จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง อยากเป็น อยากคงอยู่ตลอดไป, ความใคร่อยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ — Bhava–taṇhā: craving for existence)
3. วิภวตัณหา (ความทะยานอยากในวิภพ, ความอยากในความพรากพ้นไปแห่งตัวตนจากความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่ปรารถนา อยากทำลาย อยากให้ดับสูญ, ความใคร่อยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ — Vibhava–taṇhā: craving for non-existence; craving for self-annihilation)
…………..
แถม :
คำว่า “วิภวตัณหา” เรามักแปลกันเพลินไปว่า “ความไม่อยากเป็น” ซึ่งในภาษาไทยฟังเผิน ๆ ก็ราบรื่นดี แต่ความหมายจริง ๆ ตามภาษาธรรมข้อนี้ น้ำหนักอยู่ที่คำว่า “ตัณหา” ซึ่งแปลว่า “ความอยาก” ดังนั้น “วิภวตัณหา” ก็ยังคงต้องแปลว่า “ความอยาก” อยู่นั่นเอง ไม่ใช่ “ความไม่อยาก”
ขอให้สังเกตคำแปลของพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิภวตณฺหา” ว่า desire for non-existence (ความอยากที่จะไม่ทรงอยู่)
ไม่ได้แปลว่า non-desire for existence (ความไม่อยากที่จะทรงอยู่)
คือ “วิภวตัณหา” ต้องแปลว่า –
“ความอยากไม่เป็น”
ไม่ใช่ “ความไม่อยากเป็น”
คำว่า “-อยากไม่เป็น” ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าทำอะไร “ไม่เป็น” เช่น ขับรถไม่เป็น ร้องเพลงไม่เป็น พูดอังกฤษไม่เป็น > อยากไม่เป็น
ไม่ใช่ “ไม่เป็น” แบบนี้
“-อยากไม่เป็น” หมายความว่า อะไรก็ตามที่ตนกำลังเป็นอยู่มีอยู่ แทนที่จะ “อยาก-ที่จะเป็น” สิ่งนั้น ๆ ก็กลับตรงกันข้าม คือ “อยาก-ที่จะไม่เป็น”
หรือจับหลักไว้ง่าย ๆ ว่า –
ภาษาไทยพูดว่า “ไม่อยากเป็น”
ภาษาธรรมพูดว่า “อยากไม่เป็น”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่อยาก ก็ไม่ยาก
: แต่ยากที่จะไม่อยาก
#บาลีวันละคำ (4,269)
19-2-67
…………………………….
…………………………….