เวฬุวัน (บาลีวันละคำ 1,020)
เวฬุวัน
อ่านว่า เว-ลุ-วัน
ประกอบด้วย เวฬุ + วัน
(๑) “เวฬุ”
รากศัพท์มาจาก วิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อุ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ วิ) เป็น เอ, ลง ฬ อาคม
: วิ > เว + ฬ = เวฬ + อุ = เวฬุ แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่เป็นไปทั่วไป” (คือเกิดขึ้นและมีอยู่ทั่วไป) หมายถึง ไม้ไผ่ (a bamboo)
(๒) “วัน”
บาลีเป็น “วน” (วะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วนฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา, ส่งเสียง) + อ ปัจจัย
: วนฺ + อ = วน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เสพสุขแห่งเหล่าสัตว์” (2) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่อันผู้ต้องการวิเวกเสพอาศัย”
“วน” นักเรียนบาลีนิยมแปลกันว่า “ป่า”
คำว่า “ป่า” ในภาษาไทยมักรู้สึกกันว่าเป็นสถานที่รกทึบ มีอันตรายจากสัตว์ป่า และเป็นสถานที่น่ากลัว
คำว่า “วน” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ :
(1) สถานที่อันน่ารื่นรมย์และเป็นที่เล่นกีฬา (as a place of pleasure & sport) : wood = ป่าไม้
(2) สถานที่มีอันตรายและน่าสะพรึงกลัว (as well as of danger & frightfulness) : jungle = ไพรสณฑ์
(3) สถานที่อาศัยของนักบวช มีชื่อเสียงในทางวิเวก (as resort of ascetics, noted for its loneliness) : forest = ป่าดงพงไพร
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า (สะกดตามต้นฉบับ) –
“วน : (คำนาม) อรัณย์, ป่า; น้ำ; ที่อยู่, ที่อาศรัย, บ้าน, เรือน; น้ำตก; a forest, a wood, a grove; water; a residence, a dwelling or abode, a house; a cascade or waterfall.”
เวฬุ + วน = เวฬุวน แปลตามศัพท์ว่า “ป่าไผ่”
“เวฬุวัน” เป็นชื่อสถานที่ในพุทธประวัติ เดิมเป็นสวนที่ประพาสพักผ่อนของพระเจ้าพิมพิสาร อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากพระนครราชคฤห์ เป็นที่ร่มรื่นสงบเงียบ มีทางไปมาสะดวก พระเจ้าพิมพิสารถวายเป็นสังฆาราม นับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา
“เวฬุวัน” เป็นที่ประชุมพระสงฆ์สาวกครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” ในที่ประชุมนั้น เป็นที่มาของวัน “มาฆบูชา” ที่ชาวพุทธรู้จักกันทั่วไปมาจนทุกวันนี้
พุทธภาษิต (ตรัสที่เวฬุวัน) :
ผลํ เว กทลึ หนฺติ
ผลํ เวฬุํ ผลํ นฬํ
สกฺกาโร กาปุริสํ หนฺติ
คพฺโภ อสฺสตรึ ยถา.
ปลีกล้วยฆ่าต้นกล้วย
ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ดอกอ้อฆ่าต้นอ้อ
ลูกม้าอัสดรฆ่าแม่ม้า ฉันใด
ลาภสักการะย่อมฆ่าบุรุษถ่อยได้ฉันนั้น
มาฆปูรณมีบูชา
4-3-58