บาลีวันละคำ

รุกขกร (บาลีวันละคำ 4,270)

รุกขกร

ใช้ไปก่อน ขอช่วยคิดตามหลัง

อ่านว่า รุก-ขะ-กอน

ประกอบด้วยคำว่า รุกข + กร

(๑) “รุกข” 

บาลีเป็น “รุกฺข” (รุก-ขะ มีจุดใต้ กฺ) รากศัพท์มาจาก –

(1) รุกฺขฺ (ธาตุ = ป้องกัน, ปิดกั้น) + (อะ) ปัจจัย

: รุกฺข + = รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ป้องกัน” (คือป้องกันแดดได้)

(2) รุหฺ (ธาตุ = เกิด, งอกขึ้น) + ปัจจัย, แปลง เป็น กฺ (รุหฺ > รุกฺ)

: รุหฺ + = รุหฺข > รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดขึ้นบนแผ่นดิน

รุกฺข” สันสกฤตเป็น “วฺฤกฺษ” ในภาษาไทยใช้คงรูปบาลีว่า “รุกข-” ก็มี ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “พฤกษ” ก็มี

(๒) “กร” 

บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + (อะ) ปัจจัย 

: กรฺ + = กร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “การทำ” หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบ, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)

(2) “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้กระทำ (the maker)

(3)“อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” หมายถึง มือ (the hand)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กร” ไว้ว่า –

(1) กร ๑ : (คำนาม) ผู้ทํา, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น กรรมกร เกษตรกร. (ป.).

(2) กร ๒ : (คำนาม) มือ (มักใช้ในบทประพันธ์); แขน เช่น เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ. (กลบท); (ราชา) มือ, แขน, ปลายแขน, ใช้ว่า พระกร หรือ กร. (ป., ส.).

(3) กร ๓ : (คำนาม) แสง, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น รัชนีกร นิศากร. (ป.).

ในที่นี้ “กร” มีความหมายตามข้อ (1) 

รุกฺข + กร = รุกฺขกร (รุกฺ– มีจุดใต้ กฺ) อ่านตามบาลีว่า รุก-ขะ-กะ-ระ 

เขียนแบบไทยเป็น “รุกขกร” (รุก– ไม่มีจุดใต้ ) อ่านว่า รุก-ขะ-กอน 

แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำต้นไม้” 

อภิปรายขยายความ :

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นโพสต์เป็นภาพมีข้อความว่า “คนรักต้นไม้ ตัดแต่งต้นไม้โดยรุกขกร” (ดูภาพประกอบ) เห็นว่า “รุกขกร” เป็นคำแปลกตา อ่านเจตนาของผู้ประดิษฐ์คำนี้ได้ว่า ให้น้ำหนักของคำที่ “รุกข” คือเอาต้นไม้เป็นหลัก แล้วเอาคำว่า “กร” ที่นิยมใช้ต่อท้ายคำต่าง ๆ หมายถึง “ผู้ทำ” ไปต่อท้ายโดยมุ่งจะให้มีความหมายว่า “ผู้ตัดแต่งต้นไม้” ตามข้อความที่ว่า “ตัดแต่งต้นไม้โดยรุกขกร

รุกขกร” มีความหมาย 2 นัย คือ –

(1) ต้นไม้ยังไม่มี ทำให้มีต้นไม้ขึ้นมา = ปลูกต้นไม้

(2) ต้นไม้มีอยู่แล้ว ทำอะไรบางอย่างกับต้นไม้ = ตัดแต่งต้นไม้

ดูตามเจตนาในคำว่า “ตัดแต่งต้นไม้” เห็นได้ว่า ถ้าเป็นธุรกิจ ก็ไม่ใช่รับปลูกต้นไม้ คือหาต้นไม้มาปลูกให้ หากแต่เป็นธุรกิจรับตัดแต่งต้นไม้ที่มีอยู่แล้วเพื่อให้ดูสวยงาม

ถ้าความมุ่งหมายเป็นเช่นว่านี้ “กร” หมายถึง “ผู้ทำ” แต่ไม่ได้บ่งบอกว่าทำอะไรกับต้นไม้ คำว่า “รุกขกร” จึงมีความหมายไม่ชัดเจน เว้นไว้แต่จะตีความช่วย โดยอธิบายว่า ทำทุกอย่างกับต้นไม้ เช่น รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย กำจัดแมลง ย้ายที่ รวมทั้งตัดแต่งให้สวยงามด้วย แต่อธิบายอย่างนี้ก็จะขัดกับข้อความที่ระบุแต่เพียงว่า “ตัดแต่งต้นไม้” คือทำเฉพาะการตัดแต่งหรือทำให้ต้นไม้สวยงามเท่านั้น

ถ้ามุ่งหมายการ “ทำให้สวยงาม” อันเป็นความหมายเด่นของคำว่า “ตัดแต่ง” ผู้เขียนบาลีวันคำขอร่วมคิดด้วยการเสนอคำว่า “รุกขลงกร” อ่านว่า รุก-ขะ-ลง-กอน ประกอบด้วยคำว่า รุกข + อลงกร 

“อลงกร” อ่านว่า อะ-ลง-กอน แปลว่า “ผู้ทำให้งาม” ตรงตามคำว่า “ตกแต่ง

รุกขลงกร” แปลว่า “ผู้ทำต้นไม้ให้สวยงาม” ตรงตามคำว่า “ตัดแต่งต้นไม้

แต่รูปคำ “รุกขลงกร” ตรงอักษร –ขลง– ชวนให้อ่านว่า รุก-ขฺลง-กอน เสียงก็จะกลายเป็นคำตลกไป ครั้นจะประกอบคำให้ตรงตามหลักสนธิ คือเป็น “รุกขาลงกร” เสียงก็ยืดไป ไม่สะดวกปาก มิหนำซ้ำเกิดเป็นคำว่า –ขาลง– ขึ้นมาอีก ไม่พ้นเป็นคำตลกเอาไปล้อเล่น

ก็จึงขอแปลง “รุกขลงกร” เป็นรูปสันสกฤต คือเป็น “พฤกษลงกร” อ่านว่า พฺรึก-สะ-ลง-กอน ทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งความหมาย น่าจะพอไปได้ ข้อสำคัญได้ความสมบูรณ์ตรงตามคำว่า “ตัดแต่งต้นไม้

ที่แสดงมาทั้งหมดนี้ มิได้มีเจตนาจะเข้าไปแทรกแซงให้กระทบกระเทือนคำว่า “รุกขกร” ที่มีผู้เสนอสู่สายตาของสังคมไปแล้วแต่ประการใดทั้งสิ้น ผู้คิดคำว่า “รุกขกร” ยังคงใช้คำนี้ต่อไปได้เหมือนเดิม และญาติมิตรทั้งหลายก็ไม่จำเป็นจะต้องเห็นดีเห็นงามไปกับคำว่า “พฤกษลงกร” ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเสนอมานี้แต่ประการใดทั้งสิ้นเช่นกัน

เพียงแต่ว่า เห็นคำอะไรในบาลีที่มีผู้เสนอขึ้นมา ก็เก็บเอามาคิดต่อ เป็นการฝึกสมองทดลองปัญญาตามกรอบขอบเขตของนักเรียนบาลี คือไม่ใช่เรียนบาลีเพียงเพื่อสอบได้แล้วได้ศักดิ์และสิทธิ์ แต่เรียนแล้วเอาไปคิดทำงานบาลีต่อไปด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่ามัวแต่รักต้นไม้ในบ้าน

: แต่ปล่อยให้ล้างผลาญต้นไม้ในป่า

#บาลีวันละคำ (4,270)

20-2-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *