บาลีวันละคำ

สหัสปฏิมัณฑ์พันคาถา (บาลีวันละคำ 4,271)

สหัสปฏิมัณฑ์พันคาถา

พุทธบูชาเทศน์มหาชาติ

อ่านว่า สะ-หัด-สะ-ปะ-ติ-มัน-พัน-คา-ถา

สหัสปฏิมัณฑ์” เป็นคำศัพท์

พันคาถา” เป็นคำแปล

(๑) “สหัส

บาลีเป็น “สหสฺส” อ่านว่า สะ-หัด-สะ แปลว่า “พัน” (จำนวน 1,000 = หนึ่งพัน) (a thousand)

ภาษาไทยใช้เป็น “สหัส-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “สหัสสะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สหัส-, สหัสสะ : (คำวิเศษณ์) หนึ่งพัน คือ ๑๐ ร้อย (๑,๐๐๐). (ป.; ส. สหสฺร).”

คำในภาษาไทยที่ขึ้นต้นด้วย “สหัส-” ก็อย่างเช่น –

สหัสธารา = “สายน้ำพันสาย” หมายถึง เครื่องโปรยน้ำให้เป็นฝอย โดยปริยายหมายถึงการสรงนํ้าของพระเจ้าแผ่นดิน

สหัสนัยน์, สหัสเนตร = “พันตา” หมายถึง พระอินทร์

สหัสรังสี = “พันแสง” หมายถึง ดวงอาทิตย์

สหัสวรรษ = “พันปี” หมายถึง รอบ 1,000 ปี (millennium)

(๒) “ปฏิมัณฑ์

เขียนแบบบาลีเป็น “ปฏิมณฺฑ” อ่านว่า ปะ-ติ-มัน-ดะ รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + มฑิ (ธาตุ = ประดับ) + (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ณฺ (มฑิ > มํฑิ > มณฺฑิ), ลบสระหน้า คือ อิ ที่ (ม)-ฑิ (มฑิ > มฑ)

: ปฏิ + มฑิ = ปฏิมํฑิ > ปฏิมณฺฑิ > ปฏิมณฺฑ + = ปฏิมณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “การประดับ” หมายถึง เครื่องประดับ, การตกแต่ง, เครื่องตกแต่งหรือเครื่องแต่งตัวที่ฉูดฉาดหรูหรา (ornament, adornment, finery)

ปฏิมณฺฑ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปฏิมัณฑ์” อ่านว่า ปะ-ติ-มัน

ปฏิมัณฑ์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 และน่าจะยังไม่มีใครใช้ในภาษาไทย จึงขอฝากไว้ในวงวรรณอีกคำหนึ่ง

สหสฺส + ปฏิมณฑ = สหสฺสปฏิมณฺฑ (สะ-หัด-สะ-ปะ-ติ-มัน-ดะ) แปลเท่าศัพท์ว่า “ประดับด้วยพัน” หมายถึง ประดับด้วยคาถาจำนวนหนึ่งพันคาถา เป็นคำที่มีเจตนามุ่งถึงมหาเวสสันดรชาดก

ขยายความ :

คำบาลีจริง ๆ ที่ท่านใช้ในคัมภีร์มักจะเป็น “สหสฺสปฏิมณฺฑิต” (สะ-หัด-สะ-ปะ-ติ-มัน-ดิ-ตะ) แปลตามสำนวนนิยมว่า “มหาเวสสันดรชาดกประดับประดาไปด้วยพระคาถาหนึ่งพันพระคาถา

สหสฺสปฏิมณฺฑ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สหัสปฏิมัณฑ์” ต่อด้วยคำว่า “พันคาถา” อันเป็นคำแปลขยายความ พูดควบกันเป็น “สหัสปฏิมัณฑ์พันคาถา” หมายถึง มหาเวสสันดรชาดกอันพระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นพระคาถาคือบทร้อยกรองภาษาบาลี มีความยาวประมาณได้หนึ่งพันพระคาถา มีปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 28

มหาเวสสันดรชาดกแบ่งเรื่องออกเป็นตอน ๆ เรียกว่า “กัณฑ์” ชื่อกัณฑ์และจำนวนพระคาถาแต่ละกัณฑ์มีดังนี้ –

…………..

กัณฑ์ที่ ทศพร 19 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 2 หิมพานต์ 134 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์ 209 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 4 วนประเวศน์ 57 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 5 ชูชก 79 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 6 จุลพน 35 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 7 มหาพน 80 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 8 กุมาร 101 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 9 มัทรี 90 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 10 สักกบรรพ 43 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 11 มหาราช 69 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 12 ฉกษัตริย์ 36 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์ 48 พระคาถา

…………..

บาลีวันละคำวันนี้เขียนเป็นพุทธบูชาในโอกาสที่วัดมหาธาตุวรวิหาร พระอารามหลวง จังหวัดราชบุรี จัดงานไหว้พระมหาธาตุประจำปี เริ่มงานวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 (คือวันนี้) 

ภาคเช้าเป็นการทำบุญถวายอดีตเจ้าอาวาสและบูรพาจารย์ของวัด 

ภาคเย็นมีเทศน์คาถาพัน 

รุ่งขึ้นมีเทศน์มหาเวสสันดรชาดกเรียงกัณฑ์ไปจนจบครบทั้ง 13 กัณฑ์เป็นเวลา 3 วัน 

สิ้นสุดงานในวันมาฆบูชา

ขอญาติมิตรโปรดอนุโมทนาบุญโดยทั่วกันเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ให้ฟังเทศน์พันคาถา

บอกว่ามากนักหนาน่ารำคาญ

: ให้เงินพันล้าน

บอกว่าน้อยนิดไม่พอให้หนำใจ

#บาลีวันละคำ (4,271)

21-2-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *