ปาปการี จ ปาปกํ (บาลีวันละคำ 4,310)
ปาปการี จ ปาปกํ
ทำชั่วได้ดีมีที่ไหน
อ่านว่า ปา-ปะ-กา-รี จะ ปา-ปะ-กัง
มีคำบาลี 3 คำ คือ “ปาปการี” “จ” “ปาปกํ”
(๑) “ปาปการี”
อ่านว่า ปา-ปะ-กา-รี ประกอบด้วย ปาป + การี
(ก) “ปาป” บาลีอ่านว่า ปา-ปะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปา (ธาตุ = รักษา) + อ (อะ) ปัจจัย, ลง ป อาคม
: ปา + อ + ป = ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมเป็นแดนรักษาตนแห่งเหล่าคนดี” คือคนดีจะป้องกันตนโดยออกห่างแดนชนิดนี้
(2) ปา (ธาตุ = รักษา) + ป ปัจจัย
: ปา + ป = ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่รักษาอบายภูมิไว้” คือเพราะมีคนทำกรรมชนิดนี้ อบายภูมิจึงยังคงมีอยู่
(3) ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า) + อป (ธาตุ = ให้ถึง) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบสระหน้า (คือ อ ที่ ป) ทีฆะสระหลัง (คือ อ ที่ อป เป็น อา-)
: ป + อป > อาป = ปาป + อ = ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่ยังผู้ทำให้ถึงทุคติ”
(4) ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า) + เป (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ป เป็น อา (ป > ปา), ลบ เอ ที่ เป (เป > ป)
: ป > ปา + เป > ป = ปาป + ณ = ปาปณ > ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมเป็นเหตุไปสู่อบาย”
“ปาป” หมายถึง ความชั่ว, ความเลวร้าย, การทำผิด, (evil, sin, wrong doing); เลวร้าย, เป็นอกุศล, ชั่ว, เลวทราม, บาป (evil, bad, wicked, sinful)
ในภาษาไทยใช้ว่า “บาป” (ปา– เป็น บา-) อ่านว่า บาบ ถ้ามีคำอื่นมาสมาส อ่านว่า บาบ-ปะ-
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บาป, บาป– : (คำนาม) การกระทําผิดหลักคําสอนหรือข้อห้ามในศาสนา; ความชั่ว, ความมัวหมอง. (คำวิเศษณ์) ชั่ว, มัวหมอง, เช่น บาปมิตร = มิตรชั่ว. (ป., ส. ปาป).”
(ข) “การี” รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) ) ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี), ทีฆะ อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา ตามสูตร “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (กรฺ > การ)
: กรฺ + ณี = กรณี > (ณี > อี) : กร + อี = กรี > การี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำ (สิ่งใดสิ่งหนึ่ง) เป็นปกติ” (doing)
ปาป + การี = ปาปการี แปลว่า “ผู้ทำกรรมชั่วเป็นปกติ” (evil-doer, villain)
(๒) “จ”
บาลีอ่านว่า จะ (ไม่ใช่ จอ) นักเรียนบาลีในเมืองไทยนิยมเรียกเต็ม ๆ ว่า “จ-ศัพท์” (อ่านว่า จะ-สับ)
“จ-ศัพท์” เป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” หลักของศัพท์จำพวกนิบาตคือไม่แจกด้วยวิภัตติเหมือนคำนาม อยู่ที่ไหนก็คงรูปเดิม เช่น “จ” ก็คงเป็น “จ” ไม่เปลี่ยนรูปเป็น โจ เจ จํ จา … เหมือนคำนาม
ตำราบาลีไวยากรณ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเรียกนิบาตหมวดนี้ว่า “นิบาตสำหรับผูกศัพท์และประโยคมีอัตถะเป็นอเนก” (นอกจาก “จ” แล้วยังมีคำอื่นอีก)
นักเรียนบาลีท่องจำกันว่า “จ (จะ) = ด้วย, อนึ่ง, ก็, จริงอยู่”
คำแปลของ “จ-ศัพท์” ที่ควรทราบพอเป็นพื้นเบื้องต้น คือ –
(1) ใช้ควบคำนาม:
– แปลโดยพยัญชนะว่า “ด้วย” เช่น “มาตา จ ปิตา จ” แปลว่า “อันว่าแม่ด้วย อันว่าพ่อด้วย”
– แปลโดยอรรถว่า “และ” – “มาตา จ ปิตา จ” แปลว่า “แม่และพ่อ”
(2) ใช้ควบประโยค:
เช่น “สพฺเพ สตฺตา ชายนฺติ จ มรนฺติ จ” แปลว่า “สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงย่อมเกิดด้วย, (สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง) ย่อมตายด้วย”
(3) ใช้เป็นคำเปิดประโยค:
แปลว่า “อนึ่ง” “ก็” “จริงอยู่” (จะใช้คำไหนแล้วแต่บริบท) เช่น “วโส จ โลเก อิสฺสริยํ โหติ” แปลว่า “จริงอยู่ อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก”
หลักไวยากรณ์: กรณีที่ใช้เป็นคำเปิดประโยคนี้ ต้องมีคำอื่นนำหน้ามาก่อนเสมอ “จ” จะไม่อยู่เป็นคำแรกในประโยค
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จ-ศัพท์” ดังนี้ (ในที่เช่นไร ควรแปลอย่างไร ขึ้นอยู่กับบริบท) –
(1) ever, whoever, what-ever, etc. (ก็ตาม, ใครก็ตาม, อะไรก็ตาม, ฯลฯ)
(2) and, then, now (และ, แล้ว, ทีนี้)
(3) but [esp. after a negation] (แต่ [โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังคำปฏิเสธ])
(4) if (ถ้าว่า)
(๓) “ปาปกํ”
อ่านว่า ปา-ปะ-กัง รากศัพท์มาจาก ปาป + ก สกรรถ
(ก) “ปาป” ดูข้างต้น
(ข) “ก สกรรถ” อ่านว่า กะ-สะ-กัด “สกรรถ” หมายถึง อักษรหรือคำที่ลงข้างท้ายศัพท์ เมื่อลงแล้วศัพท์นั้นมีความหมายเท่าเดิม ในที่นี้ลง “ก” ข้างท้าย จึงเรียกว่า “ก สกรรถ”
: ปาป + ก = ปาปก (ปา-ปะ-กะ) คงมีความหมายเท่ากับ “ปาป”
“ปาปก” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “ปาปกํ”
ขยายความ :
“ปาปการี จ ปาปกํ” เป็นคาถา 1 วรรค (หรือ 1 บาท) ข้อความเต็ม ๆ เป็นดังนี้ –
…………..
เขียนแบบบาลี :
ยาทิสํ วปเต พีชํ
ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ
ปาปการี จ ปาปกํ.
เขียนแบบคำอ่าน :
ยาทิสัง วะปะเต พีชัง
ตาทิสัง ละภะเต ผะลัง
กัล๎ยาณะการี กัล๎ยาณัง
ปาปะการี จะ ปาปะกัง.
คำแปล :
ปลูกพืชเช่นใด
ได้ผลเช่นนั้น
ผู้ทำกรรมดีย่อมได้ดี
ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้ชั่ว
ที่มา: สมุททกสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 903
…………..
อภิปรายขยายความ :
พุทธภาษิตข้อนี้ต้องเข้าใจให้ถูกเรื่องกับที่ท่านอุปมาไว้ นั่นคือ หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น
ความดีที่ทำลงไป ย่อมให้ผลเป็นความดี
ความชั่วที่ทำลงไป ย่อมให้ผลเป็นความชั่ว
อุปมาเหมือนพันธุ์ขนุนที่ปลูกลงไป
ย่อมออกผลมาเป็นขนุน
พันธุ์ขนุนจะออกผลเป็นมะม่วงไปไม่ได้
ฉันใดก็ฉันนั้น
แต่เป็นไปได้ที่ทำความดีไว้ แต่ความดีนั้นยังไม่ทันให้ผล ความชั่วที่เคยทำไว้มาให้ผลก่อน ทำให้ผู้นั้นเข้าใจผิดไปว่า ทำดีไม่ได้ดี เป็นเหตุให้ผู้ที่ศึกษาไม่ละเอียดรอบคอบแต่งคำพูดโต้แย้งที่ผิดความจริงว่า –
ทำดีได้ดีมีที่ไหน
ทำชั่วได้ดีมีถมไป
ต้องเข้าใจด้วยว่า ท่านบอกว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ท่านไม่ได้บอกว่า ทำดีจะถูกหวย ทำดีจะหายป่วย ทำชั่วจะถูกฟ้าผ่า ทำชั่วจะตายโหง
การถูกหวย หายป่วย ไม่ใช่ว่าเกิดจากการทำดีเท่านั้น ทำอย่างอื่นก็อาจถูกหวยหรือหายป่วยได้
ถูกฟ้าผ่า ตายโหง ไม่ใช่ว่าเกิดจากการทำชั่วเท่านั้น ทำอย่างอื่นก็อาจถูกฟ้าผ่าหรือตายโหง
แต่ถ้ามุ่งถึงผลที่ปรารถนาอันเกิดจากการกระทำ เช่น ทำแล้วจะได้อะไร จะได้เท่าไร จะได้เมื่อไร หรือแม้แต่-จะได้หรือไม่ได้ ท่านว่าต้องพิจารณาที่เงื่อนไข หรือองค์ประกอบ หรือตัวแปร 4 อย่าง คือ –
(1) คติ ทำที่ไหน
(2) อุปธิ ใครทำ-ทำกับใคร
(3) กาละ ทำเมื่อไร
(4) ปโยคะ ทำอย่างไร
ถ้าทำถูกกับเงื่อนไขเหล่านี้ ผลที่หวังก็เกิดได้
ถ้าทำไม่ถูกกับเงื่อนไขเหล่านี้ ผลที่หวังก็เกิดไม่ได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: โกงเขากินก็เป็นคนรวยได้
: แต่เป็นคนดีไม่ได้
#บาลีวันละคำ (4,310)
31-3-67
…………………………….
…………………………….