ยศเส (บาลีวันละคำ 4,326)
ยศเส
เป็นภาษาอะไร
ภาระอย่างหนึ่งของผู้เขียนบาลีวันละคำคือ ต้องตอบคำถามเกี่ยวกับคำบาลีที่มีผู้ในใจใคร่รู้ถามมาอยู่เนือง ๆ
ดังเช่นท่านผู้หนึ่งถามว่า “ยศเส” เป็นภาษาอะไร?
ผู้เขียนบาลีวันละคำอ่านพบในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง
…………..
https://www.horabook.com/Rahuday_name.php?NameId=35391#google_vignette
…………..
บอกไว้ว่า “ยศเส” แปลว่า “ผู้มียศเป็นใหญ่” บอกด้วยว่า ภาษาอังกฤษ YOTSE อ่านว่า ยด-เส
ที่บอกว่า “ภาษาอังกฤษ YOTSE” นั้น ไม่ได้หมายถึง “ยศเส” มาจากภาษาอังกฤษว่า YOTSE ดูพจนานุกรมอังกฤษแล้ว ไม่พบคำที่สะกดว่า YOTSE
และความจริงก็คือ YOTSE เป็นคำที่ถอดเสียงคำว่า “ยศเส” เป็นอักษรโรมัน ไม่ใช่ “แปลเป็นภาษาอังกฤษ” ดังที่คนสมัยนี้เรียกกันผิด ๆ
อีกเว็บไซต์หนึ่ง
…………..
https://www.blockdit.com/posts/6170125fdb38810ea98f1423
…………..
บอกที่มาของคำว่า “ยศเส” ไว้ด้วย –
…………..
คำว่า “ยศเส” มีที่มาจาก ยศเสสวราช เป็นราชทินนามของข้าราชการในกระทรวงวัง (สำนักพระราชวังในปัจจุบัน) โดยคนที่ดำรงตำแหน่งตามหลักฐานเท่าที่พบมีหลายคน ได้แก่ หลวงยศเสสวราช (หรุ่น ไชยาคำ), พระยศเสสวราช (สาย) ต้นตระกูล สายะเสวี และ หลวงยศเสสวราช (สิน)
…………..
เป็นอันมีหลักฐานยืนยันได้ว่า คำว่า “ยศเส” ซึ่งเป็นชื่อซอยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มาจากราชทินนาม “ยศเสสวราช” อันเป็นราชทินนามของข้าราชการสังกัดกระทรวงวังในสมัยก่อน
ตามรูปศัพท์ “ยศเสสวราช” อ่านว่า ยด-เส-สะ-วะ-ราด ราชทินนามนี้คงเรียกขานกันสั้น ๆ ว่า “ยศเส” เช่น หลวงยศเส พระยศเส เรียกกันติดปากจนเอามาตั้งเป็นชื่อซอยว่า “ซอยยศเส”
ยังคงมีปัญหาว่า “ยศเสสวราช” แปลว่าอะไร?
ตามหลักแล้ว ราชทินนามทุกคำย่อมจะมีความหมายกำกับไว้ด้วย ขณะที่เขียนคำนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่พบคำแปลที่เป็นความหมายของราชทินนามคำนี้โดยตรง
เว็บไซต์ที่อ้างข้างต้นบอกว่า “ยศเส” แปลว่า “ผู้มียศเป็นใหญ่” เห็นได้ชัดว่าคำว่า “ยศ” เอามาจาก “ยศ-” ในคำว่า “ยศเส”
แล้วคำไหนที่แปลว่า “เป็นใหญ่”?
ไม่มีคำอธิบาย
ว่าตามรูปศัพท์ “ยศเสสวราช” เป็นคำบาลีสันสกฤต
“ยศ” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “ยส”
แยก “ยศ” ออกไปแล้ว “เสสวราช” จะแยกศัพท์อย่างไร และแปลว่าอะไร?
ถ้าแยกเป็น เสส + วราช
“เสส” แปลว่า “ส่วนที่เหลือ”
“วราช” ไม่พบศัพท์รูปนี้ในคัมภีร์
ถ้าจะพอมีความหมายก็คือ “เสวราช”
“เสว” (เส-วะ) แปลว่า คบหา ใกล้ชิด
“เสวราช” แปลว่า “ผู้ใกล้ชิดพระราชา” เข้าเค้ากับที่ว่าเป็นราชทินนามของข้าราชการสังกัดกระทรวงวัง
แต่รูปศัพท์เป็น “เสสวราช” ไม่ใช่ “เสวราช”
ที่พึ่งสุดท้ายและควรจะเป็นที่พึ่งแรกด้วย คือ เปิดพจนานุกรม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “ยศเส” และคำว่า “เสสวราช” หรือ “สวราช” ก็ไม่ได้เก็บไว้เช่นกัน เป็นอันว่าพึ่งไม่ได้
พจนานุกรมบาลี “ยส” มี “เสส” มี “ราช” มี
“ยสเส” ไม่มี “เสสว” ไม่มี “สวราช” ไม่มี
พจนานุกรมบาลีพึ่งได้ แต่ไม่ตรงกับที่ต้องการพึ่ง
คงเหลือแต่ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำพึ่งอยู่เสมอ
เปิดดู พบว่า สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ยศเศษ” และ “สฺวราชฺ” บอกไว้ดังนี้ –
(1) ยศเศษ : (คำวิเศษณ์) ตาย, อันดับศูนย์แล้ว; dead, deceased.
(2) สฺวราชฺ : (คำนาม) พระพรหมหรือปรมาตมา, Brahma or the Supreme Spirit.
เอา “ยศเศษ” กับ “สฺวราชฺ” มาต่อกัน ก็จะเป็น “ยศเศษสฺวราชฺ” ว่าถึงรูปศัพท์นับว่าใกล้เคียงกับ “ยศเสสวราช”
แต่เมื่อเอาความหมายมาประกอบกันเข้า แล้วแปลตามที่ตาเห็น ก็ต้องแปลว่า “พระพรหมที่ตายไปแล้ว” เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่คำแปลหรือความหมายที่พึงประสงค์ของคำว่า “ยศเสสวราช” อย่างแน่นอน
เป็นอันสุดกำลังสติปัญญาของผู้เขียนบาลีวันละคำเพียงเท่านี้ และต้องขอพักรบกับคำนี้ไว้ก่อน จนกว่าจะได้ไปสะสมกำลังสติปัญญาให้กล้าแข็งกว่านี้แล้วค่อยมาสู้กันใหม่
ถ้าเรามีนักเรียนบาลีช่วยทำงานบาลีกันมาก ๆ นักเรียนบาลีแก่ ๆ คนหนึ่งคงไม่ต้องแบกรับภาระนี้ไปตามลำพัง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: โบราณว่าถ้าเหลือกำลังลาก
: ให้ออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม
: คนเห็นหนุ่มนอนสบายหลายอาราม
: ไม่กล้าตามให้มาแบกกลัวแขกลง
——————–
ส่งการบ้านที่ยังทำไม่เสร็จให้ Surabhob Sanidvongs Na Ayuthaya
สัญญาว่า ถ้าไม่ตายเสียก่อน จะพยายามทำให้เสร็จ
#บาลีวันละคำ (4,326)
16-4-67
…………………………….
…………………………….