บาลีวันละคำ

กเฬวราก (บาลีวันละคำ 4,327)

กเฬวราก

มีรากมาจากไหน

อ่านว่า กะ-เล-วะ-ราก

คำนี้คนเก่า ๆ พูดกันบ่อย แต่คนรุ่นใหม่ที่มีบุคลิก “มุ่งไปข้างหน้า ไม่เห็นคุณค่าของข้างหลัง” น่าจะไม่พูดกันแล้ว เพราะไม่รู้และไม่แน่ใจว่ามีความหมายว่าอย่างไร ที่ไม่รู้ก็เพราะไม่นิยมศึกษาสังเกตคำเก่า ๆ

เท่าที่ฟังมา มักจะใช้คำนี้เรียกคนที่ประพฤติตัวชั่วช้าเลวทรามทำความเดือดร้อนให้ใคร ๆ อยู่เสมอว่า “ไอ้พวกกะเลวะราด” เป็นเหมือนคำด่าชนิดหนึ่ง

ที่เขียนว่า “กะเลวะราด” นี้ เป็นเพียงรูปคำหนึ่ง เขียนตามเสียงที่ได้ยินพูด อาจเป็นคำอื่น ๆ ได้อีก สุดแต่จะได้ยินหรือเข้าใจกันไปต่าง ๆ เช่น กะเลวกะราด กะเลกะลาด กะเลวกะราก กะเลวกะลาก 

ส่วนมากพูดได้ แต่ถ้าให้เขียนก็มักจะสะกดลักลั่นกันไปต่าง ๆ สรุปว่า พูดก็ไม่ตรงกัน เขียนก็ไม่ตรงกัน

กเฬวราก” บาลีเป็น “กเฬวร” (-เฬ- ฬ จุฬา) แต่โปรดทราบว่า คำนี้บาลีเป็น “กเลวร” (-เล- ล ลิง) ก็มี 

สรุปว่า บาลีมีทั้ง 2 รูป : “กเลวร” + “กเฬวร

กเลวร” (-เล- ล ลิง) อ่านว่า กะ-เล-วะ-ระ, รากศัพท์มาจาก กเล ( = จิต) + วรฺ (ธาตุ = ระวัง, ป้องกัน) + (อะ) ปัจจัย

: กเล + วร = กเลวรฺ + = กเลวร แปลตามศัพท์ว่า “ร่างที่ป้องกันที่จิต” ( = ศูนย์กลางที่ทำให้ร่างดำรงอยู่ได้คือจิต) หมายถึง “ร่างกาย” 

กเลวร” แปลง เป็น ได้รูปเป็น “กเฬวร” 

กเลวร” (กเฬวร) ใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) ร่างกาย (the body)

(2) ร่างที่ตายแล้ว, ซากศพ (a dead body, corpse, carcass)

(3) ขั้นบันได (the step in a flight of stairs)

อย่างไรก็ตาม ความหมายที่ใช้บ่อยจนถือได้ว่าเป็นความหมายหลัก คือ ร่างที่ตายแล้ว หรือซากศพ 

บาลี “กเลวร” ในภาษาไทยใช้เป็น “กเลวระ” (อ่านว่า กะ-เล-วะ-ระ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กเลวระ : (คำแบบ) (คำนาม) ซากศพ เช่น ถึงกระนั้นก็จะพบพานซึ่งกเลวระร่าง มิเลือดก็เนื้อจะเหลืออยู่บ้างสักสิ่งอัน (ม. ร่ายยาว มัทรี), บางทีใช้ว่า กเฬวราก หรือ กเฬวรากซากศพ ก็มี. (ป., ส.).”

แล้ว “กเฬวราก” มาอย่างไร?

กเลวร” (กเฬวร) เราลากเสียงเป็น “กเลวราก” (กเฬวราก) เพื่อให้คล้องจองกับ “ซากศพ” เวลาพูดควบกันจึงเป็น “กเลวรากซากศพ” (กเฬวรากซากศพ)

ซากศพเป็นที่น่ารังเกียจฉันใด คนเกะกะระรานทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนก็น่ารังเกียจฉันนั้น จึงเป็นที่มาของคำเรียกคนชนิดนั้นว่า “กเลวรากซากศพ” (กเฬวรากซากศพ)

ต่อมาคำว่า “ซากศพ” หายไป เหลือแต่ “กเฬวราก” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กเฬวราก : (คำที่ใช้ในบทกลอน) (คำนาม) ซากศพ, บางทีใช้เข้าคู่กันเป็น กเฬวรากซากศพ, เขียนเป็น กเฬวราก์ ก็มี เช่น เผากเฬวราก์ผู้อนาถ (มาลัยคำหลวง). (ป. กเฬวรอัตภาพ ว่า ร่างกาย, ซากศพ).”

แถม :

ในภาษาบาลี มีทั้ง “กเลวร” (-เล- ล ลิง) และ “กเฬวร” (-เฬ- ฬ จุฬา) 

ในภาษาไทย (ตามพจนานุกรมฯ) –

มีใช้แต่ “กเลวระ” ไม่มี “กเฬวระ

มีใช้แต่ “กเฬวราก” ไม่มี “กเลวราก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่รู้รากคำ พูดกันง่าย

: ไม่รู้รากคน พูดกันยาก

#บาลีวันละคำ (4,327)

17-4-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *