บาลีวันละคำ

ตังกิงมัญ (บาลีวันละคำ 4,328)

ตังกิงมัญ

จำไว้พูดกันให้ติดปาก

อ่านว่า ตัง-กิง-มัน

ตังกิงมัญ” เป็นคำที่ผู้เขียนบาลีวันละคำคิดขึ้นเอง โดยตัดมาจากคำบาลีเต็ม ๆ ว่า “ตํ กึ มญฺญถ” อ่านว่า ตัง กิง มัน-ยะ-ถะ มีคำบาลี 3 คำ คือ “ตํ” “กึ” “มญฺญถ” 

(๑) “ตํ

อ่านว่า ตัง รูปคำเดิมเป็น “” (ตะ) เป็นศัพท์จำพวก “สัพพนาม” 

“สัพพนาม” (สรรพนาม) ในบาลีมี 2 ประเภท คือ –

(1) “ปุริสสัพพนาม” (ปุริสสรรพนาม) คือคำแทนชื่อ มี 3 บุรุษ คือ –

1. ปฐมบุรุษ หมายถึงผู้ที่เราพูดถึง เช่น เขา มัน (he, she, they; it) บาลีใช้ศัพท์ว่า “” (ตะ) นิยมเรียก “-ศัพท์” 

2. มัธยมบุรุษ หมายถึงผู้ที่เราพูดด้วย เช่น แก เจ้า มึง (you) บาลีใช้ศัพท์ว่า “ตุมฺห” (ตุม-หะ) นิยมเรียก “ตุมฺห-ศัพท์” 

3. อุตตมบุรุษ หรือ อุดมบุรุษ หมายถึงเราซึ่งเป็นผู้พูด เช่น ฉัน ข้า กู (I, we) บาลีใช้ศัพท์ว่า “อมฺห” (อำ-หะ) นิยมเรียก “อมฺห-ศัพท์” 

(2) “วิเสสนสัพพนาม” (วิเสสนสรรพนาม) คือคำคุณศัพท์ทำหน้าที่ขยายคำนาม ในบาลีมีหลายคำ เช่น (ใด) (นั้น) อญฺญ (อื่น) ปร (อื่น) กตร (คนไหน, สิ่งไหน

ในที่นี้ “” เป็น “วิเสสนสัพพนาม” แปลว่า “นั้น” หมายถึง สิ่งใด ๆ ก็ตามที่มุ่งจะกล่าวถึง เช่น สิ่งนั้น เรื่องนั้น กรณีนั้น

” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์/นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ตํ” เขียนแบบไทยเป็น “ตัง” 

(๒) “กึ

อ่านว่า กิง เป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” ลักษณะพิเศษของศัพท์จำพวก “นิบาต” คือ ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย แต่คงรูปเดิมเสมอ

กึ” ตำราไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “นิบาตบอกความถาม” มีหลายคำ ดังนี้ –

กึ = หรือ, อะไร, ไฉน

กถํ = อย่างไร

กจฺจิ = แลหรือ 

นุ = หนอ

นนุ = มิใช่หรือ

อุทาหุ = หรือว่า

อาทู = หรือว่า

เสยฺยถีทํ = อย่างไรนี้, อะไรบ้าง

(๓) “มญฺญถ

อ่านว่า มัน-ยะ-ถ เป็นคำกริยาประเภท “กิริยาอาขยาต” รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้, เข้าใจ, สำคัญ) + (ยะ) ปัจจัยประจำหมวด ทิวฺ ธาตุ (กัตตุวาจก) + (ถะ) วิภัตติอาขยาตหมวดวัตตมานา (ประธานเป็นมัธยมบุรุษ = ผู้ที่เราพูดด้วย), พหุวจนะ, ปัจจุบันกาล, แปลง นฺ ที่สุดธาตุ กับ เป็น ญฺญ

: มนฺ + + = มนฺยถ > มญฺญถ แปลตามศัพท์ว่า “ย่อมรู้” “ย่อมเข้าใจ” “ย่อมสำคัญ” 

หมายเหตุ:สำคัญ” ในคำว่า “ย่อมสำคัญ” หมายถึง เข้าใจ เช่น สำคัญตนผิด ไม่ใช่ “สำคัญ” ที่หมายถึง พิเศษกว่าธรรมดา เช่น “เรื่องสำคัญ” หรือมีคุณค่า เช่น “ของสำคัญ”

ตํ กึ มญฺญถ” เป็นคำบาลี 3 คำ รวมกันเป็นประโยคสมบูรณ์

แปลโดยพยัญชนะ :

(ตุมฺเห = อันว่าท่านทั้งหลาย)

มญฺญถ = ย่อมเข้าใจ

ตํ = ซึ่งเรื่องนั้น (ตํ วตฺถุํ ซึ่งเรื่องนั้น, ตํ การณํ ซึ่งเหตุนั้น, ตํ ปวตฺตํ ซึ่งเหตุการณ์นั้น ฯลฯ)

กึ = ว่าอย่างไร 

แปลโดยอรรถ :

ตํ กึ มญฺญถ

ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร

ขยายความ :

ตํ กึ มญฺญถ” (ตัง กิง มัญญะถะ) เป็นประโยคคำพูดในภาษาบาลี พบได้ทั่วไปในพระไตรปิฎก ที่ควรศึกษาเป็นแบบแผนคือพระบาลีในอนัตตลักขณสูตร เป็นพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ดังความตอนหนึ่งว่า –

…………..

ตํ  กึ  มญฺญถ  ภิกฺขเว  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

รูปํ  นิจฺจํ  วา  อนิจฺจํ  วาติ  ฯ  

รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง

อนิจฺจํ  ภนฺเต  ฯ

ไม่เที่ยงพระพุทธเจ้าข้า

ยํ  ปนานิจฺจํ  ทุกฺขํ  วา  ตํ  สุขํ  วาติ  ฯ

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ทุกฺขํ  ภนฺเต  ฯ

เป็นทุกข์พระพุทธเจ้าข้า

ยํ  ปนานิจฺจํ  ทุกฺขํ  วิปริณามธมฺมํ  กลฺลํ  นุ  ตํ  สมนุปสฺสิตุํ  

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า –

เอตํ  มม  

นั่นของเรา

เอโสหมสฺมิ 

นั่นเป็นเรา

เอโส   เม  อตฺตาติ  ฯ  

นั่นเป็นตนของเรา

โน  เหตํ  ภนฺเต  ฯ

ข้อนั้นไม่ควรเลยพระพุทธเจ้าข้า

ที่มา: อนัตตลักขณสูตร วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 

พระไตรปิฎกเล่ม 4 ข้อ 21

…………..

ความหมาย :

ตํ กึ มญฺญถ” (ตัง กิง มัญญะถะ) แปลตามศัพท์ว่า “ท่านทั้งกลายเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร

ถอดความเป็นภาษาธรรมดาว่า –

– เรื่องนั้นท่านคิดว่าเป็นอย่างไร

– ที่เขาพูดอย่างนั้น พวกคุณเข้าใจว่าอย่างไร

– ขอทราบความคิดเห็นเรื่องนี้หน่อย

– แบบนี้หมายความว่าอย่างไร

– เอาไงดี

ฯลฯ

เมื่อใดก็ตามที่ต้องการจะพูดถ้อยคำแบบนี้ นึกถึงคำบาลีประโยคนี้ 

กรณีพูดกับคนหลายคน : “ตํ กึ มญฺญถ

กรณีพูดกับคนคนเดียว : “ตํ กึ มญฺญสิ

เอา “ตํ” “กึ” และ “มญฺ” จาก “มญญถ” มารวมกันเป็น “ตํกึมญฺ” เชียนแบบคำไทยเป็น “ตังกิงมัญ” อ่านว่า ตัง-กิง-มัน

เวลาจะถามอะไรใคร ขึ้นต้นประโยคแบบสนุก ๆ ว่า “ตังกิงมัญ” (หมายความว่า “ขอความเห็นหน่อยพี่น้องทั้งหลาย”-ประมาณนี้) แล้วจึงพูดภาษาไทยตามปกติ ก็ขำดี

อย่ากลัวคำคนค่อนว่าไร้สาระ

ลองคิดดู ถ้าคนไทยด่ากันเป็นภาษาบาลีได้ด้วย จะสนุกแค่ไหน

แถม :

มีผู้ตำหนิติเตียน ค่อนขอด ดูถูกดูแคลน ว่าเรียนบาลีดีแต่สอนให้ท่องให้จำ คิดเองไม่เป็น

ผู้เขียนบาลีวันละคำแสดงให้ดูแล้วว่า คนเรียนบาลีคิดเองเป็น

ตํ กึ มญฺญถ” คิดออกมาเป็น “ตังกิงมัญ” และเสนอไว้ให้พูดกันติดปาก ใครชอบก็จำเอาไปพูดได้ ไม่สงวนสิทธิ์

ผู้ตำหนิติเตียน ค่อนขอด ดูถูกดูแคลนเช่นนั้น นอกจากเอาอย่างฝรั่งและเอาอย่างกันและกัน หรือวิ่งตามกระแสสังคมแล้ว คิดอะไรเองเป็นบ้าง?

ไม่ได้ชวนทะเลาะ เพียงแค่เคาะชวนให้คิดว่า อยู่ในสังคมเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องดูถูกกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จำเป็นต้องฟังความคิดเห็นของเขา

: แต่ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนเขา

#บาลีวันละคำ (4,328)

18-4-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *