บาลีวันละคำ

กรรมฐาน ไม่ใช่ กำถัน (บาลีวันละคำ 4,335)

กรรมฐาน ไม่ใช่ กำถัน

อย่าเอาของสูงมาล้อเล่น

กรรมฐาน” อ่านว่า กำ-มะ-ถาน 

อ่านผิดแบบคนไม่รับรู้หลักการอ่านคำสมาสว่า กำ-ถาน

นานมาแล้ว ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านพบข้อความที่มีผู้ยกคำว่า “กรรมฐาน” มาเขียนล้อเล่น เป็นทำนองว่า “นั่งกำถันมีความสุขกว่านั่งกรรมฐาน” คือตั้งใจออกเสียง “กรรมฐาน” ว่า กำ-ถาน แล้วเอาคำว่า “กำถัน” มาเทียบเพื่อล้อเลียน

โปรดช่วยกันรับทราบและตระหนักว่า การเอาถ้อยคำธรรมะมาล้อเล่นเช่นนี้ คำคนไทยเก่าท่านบอกว่า เป็นบาป แปลให้ตรงกับความหมายและเจตนาที่เขียนว่า เป็นความเลวทรามต่ำช้า แสดงถึงจิตใจที่เสื่อมทรามของผู้พูดผู้เขียน

เรื่องที่จะเอามาพูดเลียนเขียนล้อเล่นมีเป็นอเนกอนันต์ จำเป็นอย่างไรหรือจึงต้องเอาถ้อยคำธรรมะมาล้อเล่น?

อย่าละเว้นที่จะตำหนิผู้ประพฤติเช่นนั้น

แต่อย่าขาดเมตตาไมตรีในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน-ขอให้เขารักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งสิ้นเถิด

………….

พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการเรียนรู้คำว่า “กรรมฐาน” และคำว่า “ถัน

(๑) “กรรมฐาน

อ่านว่า กำ-มะ-ถาน ประกอบด้วยคำว่า กรรม + ฐาน

(ก) “กรรม” บาลีเป็น “กมฺม” อ่านว่า กำ-มะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ) ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ > ก- และ ที่ปัจจัย : รมฺม > -มฺม

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม (นปุงสกลิงค์)

กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม” มีความหมายหลายอย่าง –

(1) การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม 

(2) การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม

(3) การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม

(4) พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม

ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปก็คือ การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (action, the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

(ข) “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน = ฐาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล” 

ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)

กมฺม + ฐาน = กมฺมฏฺฐาน อ่านว่า กำ-มัด-ถา-นะ

โปรดสังเกตว่า มีอักษร ปฏัก ซ้อนแทรกระหว่าง กมฺม||ฐาน 

เขียนตามศัพท์เดิมเป็น “กัมมัฏฐาน” อ่านแบบไทยว่า กำ-มัด-ถาน

เขียนแบบลูกครึ่งสันสกฤต (กรรม) – บาลี (ฐาน) เป็น “กรรมฐาน” อ่านว่า กำ-มะ-ถาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “กัมมัฏฐาน” และ “กรรมฐาน” 

ที่คำว่า “กรรมฐาน” บอกความหมายไว้ว่า “ที่ตั้งแห่งการงาน หมายเอาอุบายทางใจ มี ๒ ประการ คือ สมถกรรมฐาน เป็นอุบายสงบใจ และวิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายเรืองปัญญา”

ส่วนที่ “กัมมัฏฐาน” บอกให้ดูที่ “กรรมฐาน” นั่นแปลว่า คำนี้รูปคำที่เป็นหลักคือ “กรรมฐาน” แต่ใครจะเขียนเป็น “กัมมัฏฐาน” ก็ไม่ผิด

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “กัมมัฏฐาน” เก็บความได้ดังนี้ –

………….

(1) กัมมัฏฐาน : ที่ตั้งแห่งการงาน, อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, อุบายทางใจ, วิธีฝึกอบรมจิตใจและเจริญปัญญา 

(2) กัมมัฏฐาน 2 โดยหลักทั่วไป คือ 1. สมถกัมมัฏฐาน กรรมฐานเพื่อการทำจิตใจให้สงบ, วิธีฝึกอบรมเจริญจิตใจ 2. วิปัสสนากัมมัฏฐาน กรรมฐานเพื่อการให้เกิดความรู้แจ้ง, วิธีฝึกอบรมเจริญปัญญา

(3) สิ่งที่นิยมใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญสมถกัมมัฏฐาน ซึ่งพึงเลือกใช้ให้เหมาะกับตน เช่นให้ตรงกับจริต มี 40 อย่าง ได้แก่ กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 พรหมวิหาร 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1 อรูป 4

ส่วนสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือรูป-นาม หรือขันธ์ 5

………….

(๒) “ถัน

เขียนแบบบาลีเป็น “ถน” อ่านว่า ถะ-นะ รากศัพท์มาจาก ตนฺ (ธาตุ = แผ่ไป, ขยาย) + (อะ) ปัจจัย, แปลง เป็น  

: ตนฺ + = ตน > ถน แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่แผ่ไปเฉพาะผู้หญิง” 

ถน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เต้านมของสตรี (the breast of a woman) 

(2) เต้านมของวัว (the udder of a cow)

บาลี “ถน” ภาษาไทยใช้เป็น “ถัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ถัน : (คำนาม) เต้านม; นํ้านม. (ป. ถน ว่า เต้านม; ถญฺญ ว่า นํ้านม).”

บาลีมีอีกคำหนึ่งที่ปรุงรูปมาจาก “ถน” นั่นคือ “ถญฺญ” อ่านว่า ถัน-ยะ รากศัพท์มาจาก ถน (เต้านม) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ), แปลง นฺย (คือ ที่ ถ และ ที่ ณฺ ซึ่งลบ ณฺ แล้ว) เป็น ญฺญ 

: ถน + ณฺย = ถนณฺย > ถนฺย > ถญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “(น้ำ) ที่เกิดจากเต้านม” หมายถึง น้ำนม (mother’s milk) 

โปรดสังเกตว่า รูปศัพท์ก่อนที่จะมาเป็น “ถญฺญ” ก็คือ “ถนฺย” ซึ่งตรงกันพอดีกับคำว่า “ถันย” ที่มีใช้ในคำว่า “มูลนิธิถันยรักษ์” และ “ศูนย์ถันยรักษ์” 

คำว่า “ถันย” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ฝั่งสันสกฤตว่าอย่างไร?

บาลี “ถน” สันสกฤตเป็น “สฺตน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

สฺตน : (คำนาม) อกหรือทรวงสตรี, ‘ถัน’ ก็เรียก; the female bosom or breast; a pap.” 

นอกจาก “สฺตน” สันสกฤตยังมี “สฺตนฺย” อีกคำหนึ่ง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

สฺตนฺย : (คำนาม) ‘สตันยะ, สตันย์,’ ถัน, นมหรือน้ำนม, คำว่า ‘ปยัส, เกษียร,’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; milk.”

รูปคำ “สฺตน” และ “สฺตนฺย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “สตน” (สะ-ตน) “สตัน” (สะ-ตัน) และ “สตันย์” (สะ-ตัน) บอกไว้ดังนี้ – 

(1) สตน, สตัน : (คำแบบ) (คำนาม) เต้านม. (ส. สฺตน; ป. ถน).

(2) สตันย์ : (คำแบบ) (คำนาม) นํ้านม. (ส.; ป. ถญฺญ;).

สรุปว่า – 

บาลี “ถน” สันสกฤตเป็น “สฺตน” ไทยใช้เป็น “ถัน

บาลี “ถญฺญ” สันสกฤตเป็น “สฺตนฺย” ไทยใช้เป็น “ถันย

…………..

คำว่า “กำถัน” ในคำล้อเลียนที่ยกมาข้างต้นนั้น หมายถึง จับต้องลูบคลำเต้านมของสตรี เป็นกิริยาที่กระทำในเชิงสังวาสหรือมีอารมณ์ทางเพศ 

ลองพิจารณาดูเถิดว่า ความหมายเช่นนี้เอาไปล้อเลียนคำว่า “กรรมฐาน” ซึ่งหมายถึงวิธีฝึกอบรมจิตใจและเจริญปัญญา อันเป็นการปฏิบัติทางธรรม ส่อถึงความต่ำทรามทางจิตใจเพียงไรของผู้เอาคำมาล้อ

แถม :

นอกจากล้อเลียนด้วยถ้อยคำแล้ว ที่นิยมประพฤติกันมากในเวลานี้คือล้อเลียนด้วยรูปภาพ เช่น ประดิษฐ์ภาพพระพุทธเจ้าที่อยู่ในอาการกิริยาต่าง ๆ ที่วิปริตผิดพุทธวิสัย และประดิษฐ์ภาพพระสงฆ์ที่อยู่ในอาการกิริยาต่าง ๆ ที่วิปริตผิดพระธรรมวินัย

ไม่ว่าผู้ประดิษฐ์ภาพจะทำด้วยจิตวิญญาณของตัวเองหรือทำตามใบสั่ง ภาพที่ทำขึ้นนั้นล้วนส่อถึงความต่ำทรามทางจิตใจของผู้ทำและ/หรือผู้สั่งทั้งสิ้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใครเอาสิ่งที่เคารพนับถือของท่านมาล้อเลียน ถ้าท่านไม่ชอบ

ก็โปรดทราบเถิดว่า จิตของผู้ที่ทำเช่นนั้นเสื่อมจากความเป็นมนุษย์แล้ว

: ใครเอาสิ่งที่เคารพนับถือของท่านมาล้อเลียน ถ้าท่านชอบ

ก็โปรดทราบเถิดว่า จิตของท่านเสื่อมจากความเป็นมนุษย์แล้ว

#บาลีวันละคำ (4,335)

25-4-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *