เหลือขอ (บาลีวันละคำ 4,336)
เหลือขอ
เรียนรู้คำไทย ก้าวไปถึงคำบาลี
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านข้อความในโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่งกล่าวถึงการบำเพ็ญจิตอาสา รวบรวมสิ่งของช่วยผู้ขัดสน ท่านใช้คำว่า “เหลือ – ขอ”
เห็นคำและวิธีเขียนก็เข้าใจได้ว่า หมายถึง ใครมีสิ่งของเหลือเฟือ คือมีมาก “เหลือ” จากที่ใช้อยู่ ก็ “ขอ” คือขอรับบริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ขัดสนจนยากต่อไป
คำว่า “เหลือ – ขอ” ที่เขียนแบบนี้ ก็คือเขียนล้อคำว่า “เหลือขอ” ที่มีใช้อยู่ในภาษาไทย
คำว่า “เหลือขอ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เหลือขอ : (คำวิเศษณ์) ดื้อมาก, เอาไว้ไม่อยู่.”
เท่าที่ทราบมา “ขอ” ในคำว่า “เหลือขอ” หมายถึง เครื่องมือสำหรับบังคับช้าง
ดูที่คำว่า “ขอ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ขอ ๑ : (คำนาม) ไม้หรือเหล็กที่งอ ๆ สำหรับชัก เกี่ยว แขวน หรือสับ, ตะขอ หรือ ตาขอ ก็เรียก.”
ตามคำนิยามในพจนานุกรมฯ ไม่ได้ระบุชัดว่า “ขอ” ใช้สำหรับบังคับช้าง
ดูคำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีดังนี้ –
(1) ตาขอ : (คำนาม) ไม้หรือเหล็กที่งอ ๆ สำหรับชัก เกี่ยว แขวน หรือสับ, ขอ หรือ ตะขอ ก็ว่า.
(2) ของ้าว : (คำนาม) อาวุธด้ามยาวมีง้าวอยู่ตรงปลาย ใต้คอของด้ามมีขอสำหรับสับบังคับช้างได้, ราชาศัพท์ว่า พระแสงของ้าว.
(3) ง้าว ๑ : (คำนาม) อาวุธชนิดหนึ่ง คล้ายดาบ มีด้ามยาว, ถ้าใต้คอของด้ามมีขอสำหรับสับบังคับช้างได้ เรียกว่า ของ้าว.
เป็นอันยืนยันว่า เครื่องมือสำหรับบังคับช้างเรียกว่า “ขอ”
เมื่อจะบังคับช้างให้ทำตามที่ต้องการ ผู้บังคับซึ่งมีคำเรียกเฉพาะว่า “ควาญ” หรือ “ควาญช้าง” จะใช้ขอสับที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งบริเวณกกหูหรือคอช้างซึ่งคงได้เรียนรู้กันแล้วว่าเป็นจุดที่ช้างจะรู้สึกเจ็บมาก และจะยอมทำตามโดยง่าย
แต่ช้างบางเชือก หรือบางเวลา เช่นเวลาตกมัน จะดื้อและดุมาก ไม่ยอมทำตาม ใช้ขอสับท่าไหนก็เอาไม่อยู่ มีคำเรียกว่า “ช้างเหลือขอ” เอาลักษณะอย่างนี้มาใช้เรียกคนที่ดื้อด้าน สอนไม่ฟังสั่งไม่รับ ตัดคำลงเป็น “เหลือขอ” หมายถึง ดื้อมาก, เอาไว้ไม่อยู่
ขยายความ :
คำว่า “ขอ” “ตาขอ” ของ้าว” “ง้าว” ที่ใช้กับช้าง ภาษาบาลีว่าอย่างไร?
อุปกรณ์ที่ใช้บังคับช้าง คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี (อรรถกถาพระสูตรส่วนที่เป็นทีฆนิกาย) ภาค 2 หน้า 515 ขยายความในสักกปัญหสูตร บอกไว้ว่ามี 3 อย่าง คือ –
(1) “ตุตฺต” อ่านว่า ตุด-ตะ เขียนแบบไทยเป็น “ตุตตะ” อ่านว่า ตุด-ตะ
(2) “โตมร” อ่านว่า โต-มะ-ระ เขียนแบบไทยเป็น “โตมร” อ่านว่า โต-มอน
(3) “องฺกุส” อ่านว่า อัง-กุ-สะ เขียนแบบไทยเป็น “อังกุส” อ่านว่า อัง-กุด
แสดงลักษณะไว้ดังนี้ –
(1) ตุตฺตํ วุจฺจติ กณฺณมูเล วิชฺฌนอยกณฺฏโก.
เหล็กแหลมที่ใช้แทงกกหูเรียกว่า “ตุตตะ” (ปฏัก)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตุตฺต” ว่า a pike for guiding elephants, a goad for driving cattle (ปฏักที่ควาญช้างใช้, ปฏักใช้กับวัวควาย)
(2) โตมรนฺติ ปาทาทีสุ วิชฺฌนทณฺฑโตมรํ.
หอกมีด้ามใช้แทงเท้าเป็นต้น เรียกว่า “โตมร” (หอก)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โตมร” ว่า a pike, spear, lance, esp. the lance of an elephant-driver (โตมร, หอก, หลาว, โดยเฉพาะคือตาขอสับของควาญช้าง)
(3) องฺกุโสติ มตฺถเก วิชฺฌนกกุฏิลกณฺฏโก.
เหล็กแหลมงอใช้สับตะพองช้าง เรียกว่า “อังกุส” (ขอ)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “องฺกุส” ว่า a hook, a pole with a hook (ตาขอ, ไม้ตาขอ) ขยายความว่า for driving an elephant, a goad (สำหรับบังคับช้าง, ปฏัก)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รู้จักคำ ใช้คำให้ชอบกล
: รู้จักคน ใช้คนให้ชอบการณ์
#บาลีวันละคำ (4,336)
26-4-67
…………………………….
…………………………….