บาลีวันละคำ

อนุวาทาธิกรณ์ (บาลีวันละคำ 4,430)

อนุวาทาธิกรณ์

กล่าวหากันจนเป็นเรื่อง

อ่านว่า อะ-นุ-วา-ทา-ทิ-กอน

ประกอบด้วยคำว่า อนุวาท + อธิกรณ์

(๑) “อนุวาท” 

บาลีอ่านว่า อะ-นุ-วา-ทะ แยกศัพท์เป็น อนุ + วาท

(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนือง ๆ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “อนุ” ว่า –

(1) after, behind (ภายหลัง, ข้างหลัง)

(2) for, towards an aim, on to, over to, forward (ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า)

บางที “อนุ” สะกดเป็น “อณุ” (-ณุ ณ เณร) ใช้ในความหมายว่า เล็กน้อย, กระจ้อยร่อย, อณู, ละเอียด, ประณีต (small, minute, atomic, subtle)

ในที่นี้ “อนุ” แปลว่า ตาม, เนือง ๆ

(ข) “วาท” ภาษาไทยอ่านว่า วาด บาลีอ่านว่า วา-ทะ รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา (วทฺ > วาทฺ

: วทฺ + = วทณ > วท > วาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นเครื่องพูด

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วาท, วาท– : (คำนาม) คำพูด, ถ้อยคํา; ลัทธิ, ความเห็น. (ป., ส.).”

คำว่า “วาท” ที่ใช้ในภาษาบาลีมีความหมายมากกว่าที่เราเข้าใจกันในภาษาไทย กล่าวคือ : 

(1) การพูด, คำพูด, การคุย (speaking, speech, talk)

(2) สิ่งที่พูดกัน, ชื่อเสียง, คุณสมบัติ, ลักษณะพิเศษ (what is said, reputation, attribute, characteristic)

(3) การสนทนา, การทะเลาะกัน, การโต้เถียง, ความขัดแย้ง, การคัดค้าน (discussion, disputation, argument, controversy, dispute)

(4) คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย (doctrine, theory put forth, creed, belief, school, sect)

อนุ + วาท = อนุวาท แปลว่า “การพูดตาม” “การพูดเนือง ๆ” คือตามไปพูดไม่ยอมเลิก หมายถึง การกล่าวโทษ, การติเตียน, การว่ากล่าว (blaming, censure, admonition)

(๒) “อธิกรณ์” 

บาลีเป็น “อธิกรณ” อ่านว่า อะ-ทิ-กะ-ระ-นะ ประกอบด้วย อธิ + กรณ

(ก) “อธิ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ, เหนือ, บน

(ข) “กรณ” อ่านว่า กะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย แปลงเป็น อน [อะ-นะ] ประกอบท้ายธาตุที่ลงท้ายด้วย ให้แปลง เป็น  

: กรฺ + ยุ > อน = กรน > กรณ แปลว่า “การกระทำ”  

อธิ + กรณ = อธิกรณ แปลตามศัพท์ว่า “กระทำยิ่ง” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ :

(1) การเอาใจใส่หรือติดตาม, การดูและควบคุม, การปกครองหรือบริหาร (attendance, super-vision, management of affairs, administration)

(2) การเกี่ยวข้อง, การอ้างถึง, เหตุผล, ต้นเหตุ, ผลที่เกิดภายหลัง relation, reference, reason, cause, consequence)

(3) กรณี, ปัญหา, ชนวน, เรื่องที่พิจารณาถึง (case, question, cause, subject of discussion, dispute) 

อธิกรณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อธิกรณ์” (อะ-ทิ-กอน) เป็นคำที่ใช้ในวงการสงฆ์ เช่น “ต้องอธิกรณ์” ความหมายเท่ากับ “ต้องคดี”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อธิกรณ์ : (คำนาม) เหตุ, โทษ, คดี, เรื่องราว. (ป., ส.).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ) ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “อธิกรณ์” เป็นภาษาอังกฤษว่า –

a case; question; affair; lawsuit; dispute; disciplinary case of dispute; regal process; regal question. 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของคำว่า “อธิกรณ์” ไว้ว่า –

…………..

อธิกรณ์ : เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ, เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ มี ๔ อย่าง คือ 

๑. วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย 

๒. อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ 

๓. อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ 

๔. กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่างๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ เช่นให้อุปสมบท ให้ผ้ากฐิน, 

ในภาษาไทยอธิกรณ์มีความหมายเลือนรางลงและแคบเข้า กลายเป็น คดีความ โทษ เป็นต้น

…………..

อนุวาท + อธิกรณ = อนุวาทาธิกรณ (อะ-นุ-วา-ทา-ทิ-กะ-ระ-นะ) > วิวาทาธิกรณ์ (อะ-นุ–วา-ทา-ทิ-กอน) 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุวาทาธิกรณ” ว่า questions of censure (ปัญหาเรื่องการตำหนิติเตียน) 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อนุวาทาธิกรณ์” ไว้ดังนี้ –

…………..

อนุวาทาธิกรณ์ : การโจทที่จัดเป็นอธิกรณ์ คือ การโจทกันด้วยอาบัติ, เรื่องการกล่าวหากัน.

…………..

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎก ท่านให้คำจำกัดความคำว่า “อนุวาทาธิกรณ์” ไว้ดังนี้ –

…………..

ตตฺถ  กตมํ  อนุวาทาธิกรณํ  ฯ

ในอธิกรณ์ 4 อย่างนั้น อนุวาทาธิกรณ์เป็นไฉน?

อิธ  ปน  ภิกฺขเว  ภิกฺขู  ภิกฺขุํ   อนุวทนฺติ  

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมกล่าวหาภิกษุ –

สีลวิปตฺติยา  วา

ด้วยศีลวิบัติ (เสียหายเรื่องศีล)

อาจารวิปตฺติยา  วา

ด้วยอาจารวิบัติ (เสียหายเรื่องมารยาทหรือความประพฤติ)

ทิฏฺฐิวิปตฺติยา  วา

ด้วยทิฏฐิวิบัติ (เสียหายเรื่องความคิดเห็น)

อาชีววิปตฺติยา  วา

หรือด้วยอาชีววิบัติ (เสียหายเรื่องการดำรงชีพ)

โย  ตตฺถ  อนุวาโท  อนุวทนา  อนุลฺลปนา  อนุภณนา  อนุสมฺปวงฺกตา  อพฺภุสฺสหนตา  อนุพลปฺปทานํ 

การกล่าวหา การกล่าวโทษ การฟ้องร้อง การทักท้วง การเข้าเป็นพวก การช่วยจัดการ การสนับสนุนในข้อกล่าวหานั้น อันใด 

อิทํ  วุจฺจติ  อนุวาทาธิกรณํ  ฯ

อันนี้เรียกว่า อนุวาทาธิกรณ์

ที่มา: สมถขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 6 ข้อ 634

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยังไม่ประจักษ์แก่ใจแก่หูแก่ตา

: อย่าเพิ่งกล่าวหาใคร

: แม้ประจักษ์แก่ใจแก่หูแก่ตา

: ก็อย่ากล่าวหาใครง่าย ๆ

#บาลีวันละคำ (4,430)

29-7-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *