บาลีวันละคำ

กิจจาธิกรณ์ (บาลีวันละคำ 4,432)

กิจจาธิกรณ์

ช่วยกันทำเรื่องให้เป็นเรื่อง

อ่านว่า กิด-จา-ทิ-กอน

ประกอบด้วยคำว่า กิจจ + อธิกรณ์

(๑) “กิจจ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “กิจฺจ” (มีจุดใต้ จฺ ตัวหน้า) อ่านว่า กิด-จะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + ริจฺจ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ (ก)-รฺ (กรฺ > ) และ ที่ ริ-(จฺจ) (ริจฺจ > อิจฺจ)

: กรฺ + ริจฺจ = กรริจฺจ > กริจฺจ > กิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงทำ” หมายถึง หน้าที่, การงาน, การบริการ; พิธี, การกระทำ (duty, obligation, service, attention; ceremony, performance)

กิจฺจ” ในภาษาไทยใช้เป็น “กิจ” (กิด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กิจ, กิจ– : (คำนาม) ธุระ, งาน. (ป. กิจฺจ).”

ในที่นี้ “กิจจ” สนธิกับ “อธิกรณ์” จึงคงรูปเป็น “กิจจ

(๒) “อธิกรณ์” 

บาลีเป็น “อธิกรณ” อ่านว่า อะ-ทิ-กะ-ระ-นะ ประกอบด้วย อธิ + กรณ

(ก) “อธิ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ, เหนือ, บน

(ข) “กรณ” อ่านว่า กะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย แปลงเป็น อน [อะ-นะ] ประกอบท้ายธาตุที่ลงท้ายด้วย ให้แปลง เป็น  

: กรฺ + ยุ > อน = กรน > กรณ แปลว่า “การกระทำ”  

อธิ + กรณ = อธิกรณ แปลตามศัพท์ว่า “กระทำยิ่ง” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ :

(1) การเอาใจใส่หรือติดตาม, การดูและควบคุม, การปกครองหรือบริหาร (attendance, super-vision, management of affairs, administration)

(2) การเกี่ยวข้อง, การอ้างถึง, เหตุผล, ต้นเหตุ, ผลที่เกิดภายหลัง relation, reference, reason, cause, consequence)

(3) กรณี, ปัญหา, ชนวน, เรื่องที่พิจารณาถึง (case, question, cause, subject of discussion, dispute) 

อธิกรณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อธิกรณ์” (อะ-ทิ-กอน) เป็นคำที่ใช้ในวงการสงฆ์ เช่น “ต้องอธิกรณ์” ความหมายเท่ากับ “ต้องคดี”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อธิกรณ์ : (คำนาม) เหตุ, โทษ, คดี, เรื่องราว. (ป., ส.).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ) ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “อธิกรณ์” เป็นภาษาอังกฤษว่า –

a case; question; affair; lawsuit; dispute; disciplinary case of dispute; regal process; regal question. 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของคำว่า “อธิกรณ์” ไว้ว่า –

…………..

อธิกรณ์ : เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ, เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ มี ๔ อย่าง คือ 

๑. วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย 

๒. อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ 

๓. อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ 

๔. กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่างๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ เช่นให้อุปสมบท ให้ผ้ากฐิน, 

ในภาษาไทยอธิกรณ์มีความหมายเลือนรางลงและแคบเข้า กลายเป็น คดีความ โทษ เป็นต้น

…………..

กิจฺจ + อธิกรณ = กิจฺจาธิกรณ (กิด-จา-ทิ-กะ-ระ-นะ) > กิจจาธิกรณ์ (กิด-จา-ทิ-กอน) 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กิจฺจาธิกรณ” ว่า questions of duties (ปัญหาเรื่องหน้าที่การงาน) 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “กิจจาธิกรณ์” ไว้ดังนี้ –

…………..

กิจจาธิกรณ์ : การงานเป็นอธิกรณ์ คือเรื่องที่เกิดขึ้นอันสงฆ์ต้องจัดต้องทำหรือกิจธุระที่สงฆ์จะพึงทำ; อรรถกถาพระวินัยว่าหมายถึงกิจอันจะพึงทำด้วยประชุมสงฆ์ ได้แก่ สังฆกรรมทั้ง ๔ คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรม 

…………..

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎก ท่านให้คำจำกัดความคำว่า “กิจจาธิกรณ์” ไว้ดังนี้ –

…………..

ตตฺถ  กตมํ  กิจฺจาธิกรณํ  ฯ

ในอธิกรณ์ 4 อย่างนั้น กิจจาธิกรณ์เป็นไฉน?

ยา  สงฺฆสฺส  กิจฺจยตา  กรณียตา

งานอันใด เป็นหน้าที่ของสงฆ์ เป็นงานที่สงฆ์จะต้องทำ คือ –

อปโลกนกมฺมํ

อปโลกนกรรม (สังฆกรรมที่ทำโดยประกาศให้ที่ประชุมรับทราบก็เป็นอันสำเร็จ ไม่ต้องขอความเห็น เช่น ประกาศแจกอาหารที่มีผู้ถวายเป็นสังฆทานเป็นต้น)

ญตฺติกมฺมํ

ญัตติกรรม (สังฆกรรมที่ทำโดยเสนอเป็นญัตติให้ที่ประชุมรับทราบก็เป็นอันทำได้เลย ไม่ต้องขอความเห็นหรือลงมติ เช่น ประชุมฟังพระปาติโมกข์เป็นต้น)

ญตฺติทุติยกมฺมํ

ญัตติทุติยกรรม (สังฆกรรมที่ทำโดยเสนอเป็นญัตติให้ที่ประชุมทราบแล้วประกาศเป็นมติของสงฆ์ เช่น สวดมอบผ้ากฐินเป็นต้น)

ญตฺติจตุตฺถกมฺมํ

ญัตติจตุตถกรรม (สังฆกรรมที่ทำโดยเสนอเป็นญัตติให้ที่ประชุมทราบ แล้วถามความเห็นของที่ประชุม 3 ครั้ง จึงประกาศเป็นมติของสงฆ์ เช่น พิธีอุปสมบทเป็นต้น)

อิทํ  วุจฺจติ  กิจฺจาธิกรณํ  ฯ

อันนี้เรียกว่า กิจจาธิกรณ์

ที่มา: สมถขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 6 ข้อ 636

…………..

ขยายความเพิ่มเติม :

“อปโลกนกรรม” แปลว่า “กรรมคือการประกาศให้ทราบ” คือทำเพียงประกาศให้ที่ประชุมทราบแล้วทำตามประกาศได้เลย ไม่ต้องถามความเห็น

“ญัตติกรรม” แปลว่า “กรรมคือเสนอญัตติ” คือมีการ “ตั้งญัตติ” ตามแบบแผน หรืออย่างเป็นทางการก่อน แล้วจึงลงมือทำ ไม่ต้องถามความเห็น (ต่างจากอปโลกนกรรมตรงที่อปโลกนกรรมไม่มีการตั้งญัตติตามแนบแผน เป็นเพียงประกาศบอกกล่าวให้ทราบตามธรรมดา)

“ญัตติทุติยกรรม” แปลว่า “กรรมมีญัตติเป็นที่สอง” คือมีลำดับการปฏิบัติ 2 ขั้นตอน คือ เสนอญัตติเป็นขั้นตอนแรก ประกาศมติของสงฆ์เป็นขั้นตอนที่สอง จะเห็นว่าเสนอญัตติเป็นขั้นตอนแรก แต่สำนวนภาษาบาลีท่านพูดว่า “ญัตติเป็นที่สอง” หมายความว่า นับรวมการเสนอญัตติด้วยจึงเป็น 2 ขั้นตอน

“ญัตติจตุตถกรรม” แปลว่า “กรรมมีญัตติเป็นที่สี่” คือมีลำดับการปฏิบัติ 4 ขั้นตอน คือ เสนอญัตติเป็นขั้นตอนแรก ถามความเห็นของที่ประชุมอีก 3 ครั้ง นับรวมการเสนอญัตติด้วยจึงเป็น 4 ขั้นตอน (สำนวนภาษาบาลีพูดว่า “ญัตติเป็นที่สี่”) แล้วจึงสรุปเป็นมติของสงฆ์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่

: น่านับถือกว่ามีหน้าที่แต่ไม่ทำ

#บาลีวันละคำ (4,432)

31-7-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *