บาลีวันละคำ

อธิฏฐาน – อธิษฐาน (บาลีวันละคำ 4,442)

อธิฏฐานอธิษฐาน

ตรวจทานทบทวนความหมายกันอีกที

อธิฏฐาน” เป็นรูปคำบาลี

อธิษฐาน” เป็นรูปคำสันสกฤต

(๑) “อธิฏฐาน” เป็นรูปคำบาลี

เขียนแบบบาลีเป็น “อธิฏฺฐาน” (มีจุดใต้ ฏฺ) อ่านว่า อะ-ทิด-ถา-นะ รากศัพท์มาจาก อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ”) + ฐา (ธาตุ = วาง, ตั้ง, ยืน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ซ้อน ฏฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ 

: อธิ + ฏฺ + ฐา = อธิฏฺฐา + ยุ > อน = อธิฏฺฐาน แปลตามศัพท์ว่า “การตั้งอยู่อย่างยิ่ง” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อธิฏฺฐาน” ดังนี้ – 

(1) decision, resolution, self-determination, will (การตัดสินใจ, ความตั้งใจ, การอธิษฐาน, ความปรารถนา)

(2) mentioned in bad sense with abhinivesa and anusaya, obstinacy, prejudice and bias (กล่าวถึงในความหมายที่ไม่ดีกับ อภินิเวส และ อนุสย, ความดื้อดึง, อุปาทาน และ อคติ) 

(3) looking after, management, direction, power (การดูแล, การจัดการ, การบัญชางาน, อำนาจ)

หมายเหตุ :

อภินิเวส” แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปอยู่อย่างยิ่ง” หมายถึง ความยึดมั่น (settling in)

อนุสย” หมายถึง “กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานเพราะยังละไม่ได้

(๒) “อธิษฐาน” เป็นรูปคำสันสกฤต

สกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อธิษฺฐาน” (มีจุดใต้ ษฺ) บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อธิษฺฐาน : (คำนาม) การอาศรัย, ที่, กฤติกา, เมือง, จักร, ยศ; abiding, a site, a rule, a town, a wheel, dignity.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “อธิฏฐาน” แบบบาลี และ “อธิษฐาน” แบบสันสกฤต 

อธิฏฐาน” แบบบาลี บอกคำอ่านว่า อะ-ทิด-ถาน

อธิษฐาน” แบบสันสกฤต บอกคำอ่านว่า อะ-ทิด-ถาน และ อะ-ทิด-สะ-ถาน

พจนานุกรมฯ บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) อธิฏฐาน : (คำกริยา) ตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนา, ตั้งจิตขอร้องต่อสิ่งที่ตนถือว่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, อธิษฐาน ก็ว่า. (ป.; ส. อธิษฺฐาน).

(2) อธิษฐาน : (คำกริยา) ตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนา, ตั้งจิตขอร้องต่อสิ่งที่ตนถือว่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, อธิฏฐาน ก็ว่า. (ส.; ป. อธิฏฺฐาน).

จะเห็นได้ว่า ทั้ง “อธิฏฐาน” และ “อธิษฐาน” ใช้คำนิยามอย่างเดียวกัน

ขยายความ :

อธิฏฺฐาน – อธิษฐาน” แปลตามศัพท์ว่า “การตั้งอยู่อย่างยิ่ง” หมายถึง ความตั้งใจแน่วแน่, การตัดสินใจ, ความตกลงใจ

อธิฏฺฐาน – อธิษฐาน” เป็นบารมีอย่างหนึ่ง เรียกว่า “อธิฏฐานบารมี” หรือ “อธิษฐานบารมี” 

อธิฏฐานบารมีอธิษฐานบารมี” อ่านว่า อะ-ทิด-ถา-นะ-บา-ระ-มี

ไม่ใช่ อะ-ทิด-ถาน-บา-ระ-มี

อะ-ทิด-ถา-นะ-บา-ระ-มี > อ่านถูก

อะ-ทิด-ถาน-บา-ระ-มี > อ่านผิด

…………..

ขอยกคำว่า “อธิษฐาน” จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อตรวจทานทบทวนความหมายกันอีกที

…………..

อธิษฐาน :

1. ในทางพระวินัย แปลว่า การตั้งเอาไว้ ตั้งใจกำหนดแน่นอนลงไป เช่น อธิษฐานพรรษา ตั้งเอาไว้เป็นของเพื่อการนั้น ๆ หรือตั้งใจกำหนดลงไปว่าให้เป็นของใช้ประจำตัวชนิดนั้น ๆ เช่น ได้ผ้ามาผืนหนึ่ง ตั้งใจว่าจะใช้เป็นอะไร คือจะเป็นสังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตรวาสก ก็อธิษฐานเป็นอย่างนั้น ๆ เมื่ออธิษฐานแล้ว ของนั้นเรียกว่าเป็นของอธิษฐาน เช่น เป็นสังฆาฏิอธิษฐาน จีวรอธิษฐาน (นิยมเรียกกันว่า จีวรครอง) ตลอดจนบาตรอธิษฐาน ส่วนของชนิดนั้น ที่ได้เพิ่มมาอีกหรือเกินจากนั้นไปก็เป็นอติเรก เช่น เป็นอติเรกจีวร, อติเรกบาตร, คำอธิษฐาน เช่น “อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฺฐามิ” (ถ้าอธิษฐานของอื่น ก็เปลี่ยนไปตามชื่อของนั้น เช่นว่า อุตฺตราสงฺคํ, อนฺตรวาสกํ, ปตฺตํ เป็นต้น); 

2. ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความตั้งใจมั่นแน่วที่จะทำการให้สำเร็จลุจุดหมาย, ความตั้งใจหนักแน่นเด็ดเดี่ยวว่าจะทำการนั้น ๆ ให้สำเร็จ และมั่นคงแน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน เป็นบารมีอย่างหนึ่ง เรียกว่า อธิษฐานบารมี หรืออธิฏฐานบารมี (ข้อ ๘ ในบารมี ๑๐) 

3. ธรรมเป็นที่มั่น, ในแบบเรียนธรรมของไทย เรียกว่า อธิษฐานธรรม.

4. ในภาษาไทย ใช้เป็นคำกริยา และมักมีความหมายเพี้ยนไปว่า ตั้งใจมุ่งขอให้ได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนา เฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งจิตขอต่อสิ่งที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ให้สำเร็จผลอย่างใดอย่างหนึ่ง;

มีข้อสังเกตว่า ในความหมายเดิม อธิษฐานเป็นการตั้งใจที่จะทำ (ให้สำเร็จด้วยความพยายามของตน) แต่ความหมายในภาษาไทยกลายเป็นอธิษฐานโดยตั้งใจขอเพื่อจะได้หรือจะเอา เฉพาะอย่างยิ่งด้วยอำนาจดลบันดาลโดยตนเองไม่ต้องทำ. 

…………..

ดูก่อนภราดา!

“อธิฏฺฐาน” บาลี : ตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จด้วยความพยายามของตน 

“อธิษฐาน” ไทย : ตั้งใจขอเพื่อจะได้หรือให้สำเร็จด้วยอำนาจดลบันดาลโดยตนเองไม่ต้องทำ

จะเอาอย่างไหนดี อย่างบาลี หรืออย่างไทย?

#บาลีวันละคำ (4,442)

10-8-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *