บาลีวันละคำ

กัปกัลป์พุทธันดร (บาลีวันละคำ 4,443)

กัปกัลป์พุทธันดร

เวลาที่ยาวนานนักหนา

อ่านว่า กับ-กัน-พุด-ทัน-ดอน

กัปกัลป์พุทธันดร” ประกอบด้วยคำว่า “กัป” “กัลป์” และ “พุทธันดร” 

เป็นคำที่อยู่ในคำนิยามคำว่า “กัป” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งมีข้อความดังนี้ –

กัป : (คำนาม) อายุของโลกตั้งแต่เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จจนถึงเวลาที่ไฟประลัยกัลป์มาล้างโลก, บางทีใช้เข้าคู่กับคํา กัลป์ เช่น ชั่วกัปชั่วกัลป์ นานนับกัปกัลป์พุทธันดร. (ป. กปฺป; ส. กลฺป). (ดู กัลป-, กัลป์).”

(๑) “กัป” 

บาลีเป็น “กปฺปฺ” อ่านว่า กับ-ปะ รากศัพท์มาจาก กปฺปฺ (ธาตุ = กำหนด) + (อะ) ปัจจัย

: กปฺปฺ + = กปฺป (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดขึ้น

กปฺป” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)

(2) จุดสีดำเล็กๆ (a small black dot)

(3) ทำเลศนัย (a making-up of a trick)

(4) คำสั่ง, คำสั่งสอน, กฎ, ข้อปฏิบัติ, มรรยาท (ordinance, precept, rule; practice, manner)

(5) เวลาที่แน่นอน (a fixed time); เวลาที่กำหนดไว้ชั่วกัปหนึ่ง (time with ref. to individual and cosmic life)

ในภาษาไทย คำนี้ใช้เป็น “กัป” (กับ) ตามบาลีก็มี ใช้อิงสันสกฤตเป็น “กัลป-” (กัน-ละ-ปะ-, มีคำอื่นมาสมาสท้าย) และ “กัลป์” (กัน) ก็มี 

(๒) “กัลป์

อ่านว่า กัน คือ “กัป” ในบาลีนั่นเอง สันสกฤตเป็น “กลฺป

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

กลฺป : (คำวิเศษณ์) ละม้าย; like (but with a degree of inferiority); – (คำนาม) ศาสตร์หรือบุณยการย์; เวทางค์หนึ่งในจำนวนหก; หนึ่งทิวากับหนึ่งราตรีของพรหม, เวลามีกำหนด ๔,๓๒๑,๐๐๐,๐๐๐ สูรยนักษัตรสังวัตสรกาลบอกสถิติของโลก, และบอกอันตราลแห่งความประลัยของโลก; ความประลัยของโลก; บุณยศาสน์, พฤตติ์อันตราลงไว้โดยพระเวทเพื่ออำนวยผลอย่างหนึ่ง; สังคติ, ความสม; ความแล้วแต่ใจ, คติ, ศงกา; ความตั้งใจอย่างใดอย่างหนึ่ง; ต้นพฤกษ์ในสวรรค์; a Śāstra or sacred work; one of the six Vedangas; a day and night of Brahmā, a period of 4,321,000,000 solar-sidereal-years, measuring the duration of the world, and the interval of its annihilation; a destruction of the world; a sacred precept, practice prescribed by the Vedas for effecting certain consequences; propriety, fitness; optionality, alternative, doubt; any act of determination; one of the trees in Indra’s paradise.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กัลป-, กัลป์ : (คำนาม) กัป, อายุของโลกตั้งแต่เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จจนถึงเวลาที่ไฟประลัยกัลป์ล้างโลก ซึ่งได้แก่ช่วงเวลากลางวัน วันหนึ่งของพระพรหม คือ ๑,๐๐๐ มหายุค (เท่ากับ ๔,๓๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีมนุษย์) เมื่อสิ้นกัลป์ พระอิศวรจะล้างโลกด้วยไฟประลัยกัลป์ โลกจะไร้สิ่งมีชีวิตและอยู่ในความมืดมนจนถึงรุ่งเช้าของวันใหม่ แล้วพระพรหมก็จะสร้างโลกเป็นการขึ้นต้นกัลป์ใหม่ โลกจะถูกสร้างและถูกทำลายเช่นนี้สลับกันตลอดอายุของพระพรหม ทั้งนี้ตามคติของพราหมณ์, บางทีใช้เข้าคู่กับคํา กัป เช่น ชั่วกัปชั่วกัลป์ นานนับกัปกัลป์พุทธันดร. (ส.; ป. กปฺป).”

(๓) “พุทธันดร

อ่านว่า พุด-ทัน-ดอน บาลีเป็น “พุทฺธนฺตร” (พุทฺธ + อนฺตร) อ่านว่า พุด-ทัน-ตะ-ระ แปลตามศัพท์ว่า “ระหว่างแห่งพระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธนฺตร” ว่า a Buddha-interval, the period between the appearance of one Buddha & the next (ระยะว่างระหว่างพระพุทธเจ้า, ยุคในระหว่างความปรากฏขึ้นของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งกับองค์ถัดไป) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พุทธันดร : (คำนาม) ช่วงเวลาที่โลกว่างพระพุทธศาสนา คือ ช่วงเวลาที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นแล้ว และพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ยังไม่อุบัติ. (ป. พุทฺธนฺตร).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ว่า –

พุทธันดร : ช่วงเวลาในระหว่างแห่งสองพุทธุปบาทกาล, ช่วงเวลาในระหว่าง นับจากที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นแล้ว จนถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่เสด็จอุบัติ คือช่วงเวลาที่โลกว่างพระพุทธศาสนา, คำนี้ บางทีใช้ในการนับเวลา เช่นว่า ‘บุรุษนั้น … เที่ยวเวียนว่ายอยู่ตลอด ๖ พุทธันดร …’ ”

อภิปรายขยายความ :

ควรทราบว่า พระพุทธเจ้าที่เสด็จอุบัติแล้วในโลกมีหลายพระองค์ แต่จะเสด็จอุบัติขึ้นคราวละ 1 พระองค์เท่านั้น กล่าวคือ ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นแล้วพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่จึงจะเสด็จอุบัติ = จะไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน 2 พระองค์

เมื่อศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นแล้ว ก็มิใช่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่จะเสด็จอุบัติทันทีแบบเชื่อมต่อกันไม่ขาดตอน หากแต่จะมีช่วงเวลาที่โลกว่างจากพระศาสนาคือไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัส 

เทียบพอให้เข้าใจก็เหมือนที่เราพูดกันว่า “เว้นวรรคทางการเมือง” ช่วงเวลาที่ “เว้นวรรค” นี่แหละคือ “พุทธันดร

พุทธันดร” ระหว่างพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะยาวนานไม่เท่ากัน เช่น –

เมื่อศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ที่แล้วคือพระกัสสปพุทธเจ้าเสื่อมสิ้นไป เป็นเวลานาน 1 อันตรกัป พระโคดมพุทธเจ้าของเราจึงมาตรัส 

เมื่อศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้าเสื่อมสิ้นไป (ซึ่งกำหนดกันว่าห้าพันปีนับจากเสด็จดับขันธปรินิพพาน) เป็นเวลานาน 1 อสงไขย พระศรีอริยเมตไตรยจึงจะมาตรัส 

(ศึกษาเพิ่มเติมจากคัมภีร์ อนาคตวงศ์)

พุทธันดร” มีความหมายโดยนัยถึงช่วงเวลาที่ยาวนานนักหนาจนเหลือที่จะกำหนดนับ ดังคำที่พูดกันว่า นานนับกัปกัลป์พุทธันดร ….

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ปฏิทินถูกฉีกไปเรื่อย ๆ

ชีวิตก็หมดไปเรื่อย ๆ 

: วันคืนไม่หมดไป

แต่ชีวิตหมดไปแน่ ๆ

#บาลีวันละคำ (4,443)

11-8-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *