วีตมล (บาลีวันละคำ 4,445)
วีตมล
ใช้เป็นชื่อคนก็เหมาะดี
อ่านแบบไทยว่า วี-ตะ-มน
อ่านแบบบาลีว่า วี-ตะ-มะ-ละ
แยกศัพท์เป็น วีต + มล
(๑) “วีต”
อ่านว่า วี-ตะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง. ในที่นี้ใช้แทนศัพท์ “วิคต” = ออกไป, หายไป) + อิต (คำกิริยากิตก์ = ไปแล้ว), ทีฆะ อิ เป็น อี
: วิ + อิต = วิต > วีต แปลตามศัพท์ว่า “ออกไปแล้ว” หมายถึง ปราศจาก, ปลอดจาก, ไม่มี (deprived of, free from, being without)
(๒) “มล”
บาลีอ่านว่า มะ-ละ รากศัพท์มาจาก มลฺ (ธาตุ = เคลื่อนที่; มัวหมอง) + อ (อะ) ปัจจัย
: มลฺ + อ = มล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เคลื่อนออกมา” (เช่นสิ่งสกปรกจากร่างกาย) (2) “สิ่งเป็นเหตุให้มัวหมอง”
“มล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์, มลทิน; ความสกปรก, ของโสโครก; ความไม่บริสุทธิ์ (anything impure, stain; dirt; impurity)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “มล” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
“มล : (คำวิเศษณ์) เปื้อนเปรอะ; dirty; – (คำนาม) สิ่งโสมมหรือเปื้อนเปรอะทั่วไป; บาป; dirt or filth in general; sin.”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “มละ” เป็นอังกฤษว่า –
Mala: dirt; impurity; stain; refuse; dust.
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มล, มล– : (คำนาม) ความมัวหมอง, ความสกปรก, ความไม่บริสุทธิ์; สนิม, เหงื่อไคล. (คำวิเศษณ์) มัวหมอง, สกปรก, ไม่บริสุทธิ์. (ป., ส.).”
วีต + มล = วีตมล แปลตามศัพท์ว่า “มีมลทินไปปราศแล้ว” “มีมลทินออกไปแล้ว” คือ ปราศจากมลทิน, ไม่ด่างพร้อย, ไม่แปดเปื้อน, สะอาด, บริสุทธิ์ (without stains, spotless, unstained, clean, pure)
ขยายความ :
“วีตมล” เป็นคำแสดงคุณสมบัติของ “ธรรมจักษุ” ที่แปลว่า “ดวงตาเห็นธรรม” ดังคำบาลีว่า “วิรชํ วีตมลํ ธมฺมจกฺขุํ อุทปาทิ” แปลว่า “ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ไม่มีมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้ว”
ผู้ได้ “ดวงตาเห็นธรรม” เช่นนี้จะเห็นประจักษ์ในสัจธรรมต่อไปว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งมวลนั้นย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา” อันเป็นคุณสมบัติของอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา
แถม :
“วีตมล” ใช้เป็นคำไทย อ่านอย่างคำไทยว่า วี-ตะ-มน มีความหมายดังที่แสดงไว้ข้างต้น
ขอมอบเป็นอภินันทนาการแด่นักตั้งชื่อทั้งหลาย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนฉลาด
: ไม่นั่งรอให้ใจสะอาดขึ้นมาเอง
#บาลีวันละคำ (4,445)
13-8-67
…………………………….
…………………………….