อุตุนิยมวิทยา (บาลีวันละคำ 1,441)
อุตุนิยมวิทยา
ตามหลักภาษาต้องอ่านว่า อุ-ตุ-นิ-ยม-มะ-วิด-ทะ-ยา
แต่มักอ่านกันว่า อุ-ตุ-นิ-ยม-วิด-ทะ-ยา (ไม่มี -มะ-)
ประกอบด้วย อุตุ + นิยม + วิทยา
(๑) “อุตุ” รากศัพท์มาจาก –
(1) อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ตุ ปัจจัย, แปลง อิ เป็น อุ
: อิ + ตุ = อิตุ > อุตุ แปลตามศัพท์ว่า “กาลเวลาที่เป็นไปประจำ”
(2) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ตุ ปัจจัย, แปลง อรฺ เป็น อุ (อรฺ > อุ)
: อรฺ + ตุ = อรตุ > อุตุ แปลตามศัพท์ว่า “กาลเวลาเป็นที่เป็นไปแห่งหิมะเป็นต้น”
“อุตุ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) เวลาที่ดีหรือเหมาะเจาะ, ฤดู (good or proper time, season)
(2) การเปลี่ยนแปลงประจำปี, เวลาของปี, ฤดู (yearly change, time of the year, season)
(3) เลือดระดูของผู้หญิง (the menses)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อุตุ ๑ : (คำนาม) ฤดู. (ป.; ส. ฤตุ)
(2) อุตุ ๒ : (ภาษาปาก) (คำวิเศษณ์) สบาย (ใช้แก่กริยานอน) เช่น นอนหลับอุตุ
(๒) “นิยม”
บาลีอ่านว่า นิ-ยะ-มะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ยมฺ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + อ ปัจจัย
: นิ + ยมฺ = นิยม + อ = นิยม แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ต้องกำหนดด้วยเวลาเป็นต้น” (นอกจากใช้ “เวลา” เป็นเครื่องกำหนดแล้ว ยังใช้อย่างอื่นอีกด้วย เช่น กฎธรรมชาติ กติกาของสังคม ฯลฯ)
“นิยม” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) การสำรวม, การบังคับยับยั้ง, การฝึกฝน, การควบคุมตนเอง (restraint, constraint, training, self-control)
(2) การกำหนดแน่, ความแน่นอน, การจำกัด (definiteness, certainty, limitation)
(3) กฎธรรมชาติ, กฎของจักรวาล (natural law, cosmic order)
(๓) “วิทยา”
บาลีเป็น “วิชฺชา” รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ย), แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-ย) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ว่า science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ชั้นสูง)
บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา”
โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”
อุตุ + นิยม + วิทยา = อุตุนิยมวิทยา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุตุนิยมวิทยา : (คำนาม) วิชาว่าด้วยเรื่องราวของบรรยากาศ.”
“อุตุนิยมวิทยา” เป็นคำที่บัญญัติจากคำอังกฤษว่า meteorology
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล meteorology เป็นบาลีว่า antalikkhavijjā อนฺตลิกฺขวิชฺชา (อัน-ตะ-ลิก-ขะ-วิด-ชา)
นักเรียนบาลีมักเข้าใจว่า “อนฺตลิกฺข” คือท้องฟ้า (sky)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนฺตลิกฺข” ว่า the atmosphere or air (กลางหาว หรืออากาศ)
โปรดสังเกตว่าฝรั่งที่รู้บาลีไม่ได้แปล “อนฺตลิกฺข” ว่า sky
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกด้วยว่า “อนฺตลิกฺข” แปลตรงตัวว่า “situated in between sky and earth” (ตั้งอยู่ระหว่างท้องฟ้าและพื้นดิน)
ดังนั้น antalikkhavijjā : อนฺตลิกฺขวิชฺชา > meteorology > อุตุนิยมวิทยา จึงมีความหมายว่า วิทยาการว่าด้วยธรรมชาติเหนือพื้นดินขึ้นไปจนถึงชั้นบรรยากาศซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ทั้งนี้เพื่อพยากรณ์หรือคาดหมายว่าเมื่อใดจะเกิดภาวะเช่นใดขึ้น ณ บริเวณใด
: ใจปุถุชนพยากรณ์ลำบาก
: เพราะความอยากไม่มีฤดูกาล
12-5-59