ธรรมทาน กับ วิทยาทาน (บาลีวันละคำ 823)
ธรรมทาน กับ วิทยาทาน
มีความหมายต่างกันหรือไม่
คำที่ควรทำความเข้าใจคือ ธรรม, วิทยา, ทาน
“ธรรม” บาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ
“ธมฺม” มีรากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ร ต้นปัจจัย = ธมฺม
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
ธมฺม สันสกฤตเป็น ธรฺม เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น ธรรม
พจน.54 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
“วิทยา” บาลีเป็น “วิชฺชา” อ่านว่า วิด-ชา มีรากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ท (ที่ วิทฺ) กับ ย (ที่ ณฺย) เป็น ชฺช, ลง อา เครื่องหมายคำเพศหญิง
: วิทฺ + ณฺย > ย = วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ความรู้” ในบาลีหมายถึงวิชาความรู้ทั่วไปตามวิสัยมนุษย์ ความรู้เหนือมนุษย์สามัญ จนถึงวิชาที่เป็นเหตุให้ละกิเลส ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง
“วิชฺชา” ในภาษาไทยเขียน “วิชา” ตัด ช ออกตัวหนึ่ง
“ทาน” บาลีอ่านว่า ทา-นะ มีรากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การให้” (2) “สิ่งที่ถูกให้”
ธมฺม + ทาน = ธมฺมทาน > ธรรมทาน แปลว่า “การให้ธรรม”
วิชฺชา + ทาน = วิชฺชาทาน > วิทยาทาน แปลว่า “การให้ความรู้”
ธมฺมทาน > ธรรมทาน คำนี้มีใช้ในคัมภีร์ หมายถึง การแสดงธรรมให้ฟัง ผลสูงสุดคือทำให้ผู้ฟังบรรลุมรรคผล เราเอามาใช้ในภาษาไทยขยายความไปถึงการเผยแพร่ธรรมตลอดจนความรู้อันเกี่ยวเนื่องถึงธรรม
คำว่า “ธรรมทาน” ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
“วิทยาทาน” เป็นคำที่ผูกขึ้นใช้ในภาษาไทย (ในคัมภีร์ไม่พบคำที่ใช้ควบกับในความหมายเช่นนี้)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิทยาทาน : (คำนาม) การให้ความรู้ เช่น ให้ความรู้เป็นวิทยาทาน จัดพิมพ์หนังสือแจกเป็นวิทยาทาน”
หากจะแยกความหมาย :
ธรรมทาน เน้นที่เรื่องเกี่ยวกับคำสอนในพระศาสนาและความรู้ที่เกี่ยวข้อง
วิทยาทาน เน้นที่วิชาความรู้ทั่วไป
แต่เมื่อว่าโดยรวบยอดแล้ว ธรรมทาน ย่อมครอบคลุมไปถึง วิทยาทาน ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง วิทยาทาน ก็คือ ธรรมทาน อย่างหนึ่งนั่นเอง
แต่ความหมายในภาษาไทย วิทยาทาน บางอย่างเราอาจไม่รู้สึกว่าเป็น ธรรมทาน เช่น พิมพ์ตำราทำกับข้าวแจกเป็นวิทยาทาน “ตำราทำกับข้าว” น่าจะไม่ใช่ “ธรรมทาน”
หลักของธรรมทานและวิทยาทาน คือ ผู้ให้ต้องไม่หวังผลประโยชน์ใดๆ เพื่อตนเอง หวังให้ผู้รับได้ประโยชน์สูงสุดโดยส่วนเดียว
: เพราะไม่มี จึงให้อะไรไม่ได้
: แต่ถ้ามี ก็ยังให้ไม่ได้ จะต่างอะไรกับไม่มี ?
————-
(ตามคำขอของ Phot Phantha ผู้ขอ พิธีกรควรรู้ มาเป็นเล่มสุดท้าย)
#บาลีวันละคำ (823)
19-8-57