อิสริยะ (บาลีวันละคำ 1,667)
อิสริยะ
อ่านว่า อิด-สะ-ริ-ยะ
บาลีเป็น “อิสฺสริย” อ่านเหมือนกันว่า อิด-สะ-ริ-ยะ
“อิสฺสริย” รากศัพท์มาจาก อิสฺสร + อิย ปัจจัย
(๑) “อิสฺสร” รากศัพท์มาจาก –
1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ
: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)
2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย
: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่”
3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)
: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง
“อิสฺสร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)
(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)
“อิสฺสร” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้ว่า “อิสร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อิสร-, อิสระ : (คำวิเศษณ์) เป็นใหญ่, เป็นไทแก่ตัว, เช่น อิสรชน, ที่ปกครองตนเอง เช่น รัฐอิสระ, ไม่ขึ้นแก่ใคร, ไม่สังกัดใคร, เช่น อาชีพอิสระ นักเขียนอิสระ.น. ความเป็นไทแก่ตัว เช่น ไม่มีอิสระ แยกตัวเป็นอิสระ. (ป. อิสฺสร; ส. อีศฺวร).”
(๒) อิสฺสร + อิย ปัจจัย
: อิสฺสร + อิย = อิสฺสริย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งผู้เป็นใหญ่” หมายถึง ความเป็นผู้ปกครอง, ความเป็นนาย, ความเป็นใหญ่, อำนาจปกครอง (rulership, mastership, supremacy, dominion)
“อิสฺสริย” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อิสริยะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อิสริย-, อิสริยะ : (คำนาม) ความเป็นใหญ่, ความเป็นเจ้า, ความยิ่งใหญ่. (ป. อิสฺสริย; ส. ไอศฺวรฺย).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “อิสริยะ” สันสกฤตเป็น “ไอศฺวรฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ไอศฺวรฺยฺย, ไอศฺวรฺย : (คำนาม) ‘ไอศวรรย์,’ เทวานุภาพ, สรรพสมรรถศักดิ์, ความแลไม่เห็น, ฯลฯ; ความเปนใหญ่, พลศักดิ์, กำลัง; divine power, omnipotence, invisibility, etc.; supremacy, power, might.”
โปรดสังเกตคำแปลเป็นอังกฤษ ระหว่าง “อิสฺสริย” ในบาลี ซึ่งฝรั่งแปล กับ “ไอศฺวรฺย” ในสันสกฤต ซึ่งไทย (นายร้อยเอก หลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) ผู้จัดทำ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) แปล มีตรงกันคำเดียวคือ supremacy
คำว่า “อิสริยะ” ในภาษาไทยที่เราเคยได้ยิน คือ “อิสริยยศ” (อิด-สะ-ริ-ยะ-ยด) “อิสริยศักดิ์” (อิด-สะ-ริ-ยะ-สัก) และ “อิสริยาภรณ์” (อิด-สะ-ริ-ยา-พอน)
“อิสริยยศ” และ “อิสริยาภรณ์” มีเก็บไวในพจนานุกรม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อิสริยยศ : (คำนาม) ยศที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาเจ้านายให้สูงขึ้น เนื่องจากได้ปฏิบัติราชการแผ่นดิน มีความดีความชอบ เช่น สถาปนาพระองค์เจ้าขึ้นเป็นเจ้าฟ้า สถาปนาหม่อมเจ้าขึ้นเป็นพระองค์เจ้า, ยศอันยิ่งใหญ่ที่สามัญชนได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้า.
(2) อิสริยาภรณ์ : (คำนาม) ตราเครื่องประดับเกียรติยศ เรียกเป็นสามัญว่า เหรียญตรา.
…………..
ในทางธรรม มีพุทธภาษิตที่รู้จักกันดีบทหนึ่งว่า “วโส อิสฺสริยํ โลเก” แปลว่า “อำนาจเป็นใหญ่ในโลก”
ทางโลกก็น่าจะเห็นตรงกันกับพุทธภาษิตบทนี้
ที่ควรตึกตรองต่อไปก็คือ “อำนาจ” ที่ว่านี้คืออะไร หรือคืออำนาจของอะไรหรือของใคร
ถ้าเป็นอำนาจของคน ก็คนชนิดเช่นไรเล่าที่ควรจะเป็นใหญ่?
…………..
: ผู้เป็นใหญ่เหนือใจตน
: ย่อมเหมาะที่จะเป็นใหญ่เหนือใจคน
27-12-59