กัตรทัณฑ์ (บาลีวันละคำ 4,459)
กัตรทัณฑ์
แปลว่า “ไม้เท้าของผู้เฒ่า”
อ่านว่า กัด-ตฺระ-ทัน
(ตามพจนานุกรมฯ)
ประกอบด้วยคำว่า กัตร + ทัณฑ์
(๑) “กัตร”
เขียนแบบบาลีเป็น “กตฺตร” อ่านว่า กัด-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก กตฺตรฺ (ธาตุ = หย่อน, เทิบทาบ) + อ (อะ) ปัจจัย
: กตฺตรฺ + อ = กตฺตร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้หย่อนยานเทิบทาบ” หมายถึง เสื่อมโทรม, ชรา, แก่เฒ่า, หมดกำลัง, อ่อนแอ (decayed, broken up, frail, decrepit, old)
(๒) “ทัณฑ์”
บาลีเป็น “ทณฺฑ” อ่านว่า ทัน-ดะ (ฑ มณโฑ ออกเสียงเหมือน ด เด็ก) รากศัพท์มาจาก –
(1) ทมฺ (ธาตุ = ฝึก, ข่ม, ทรมาน) + ฑ ปัจจัย, แปลง มฺ เป็น ณฺ
: ทมฺ > ทณฺ + ฑ = ทณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องทรมานฝึกฝน” หมายถึง การลงทัณฑ์, การทรมาน, การลงอาญา, การถูกปรับ
(2) ทฑิ (ธาตุ = ตี, ประหาร) + ก ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ณฺ, ลบ ก และสระที่สุดธาตุ
: ทฑิ > ทํฑิ > ทณฺฑิ > ทณฺฑ + ก = ทณฺฑก > ทณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องตี” หมายถึง ท่อนไม้, ไม้เท้า, ไม้เรียว
“ทณฺฑ” (ปุงลิงค์) มีความหมายหลัก 2 อย่าง คือ ไม้ที่หยิบถือได้ (a stick, staff, rod) และ การลงโทษ (punishment)
ในที่นี้ “ทณฺฑ” หมายถึง ไม้เท้า, ไม้ถือ หรือท่อนไม้
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทัณฑ-, ทัณฑ์ : (คำนาม) โทษที่เนื่องด้วยความผิด; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) โทษทางวินัยที่ใช้แก่ทหารที่กระทำความผิดมี ๕ สถาน ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กัก ขัง และจำขัง. (ป., ส.).”
โปรดสังเกตว่า ในภาษาไทย (ตามพจนานุกรมฯ) “ทัณฑ์” ไม่ได้ใช้ในความหมายว่า ไม้เท้า
กตฺตร + ทณฺฑ = กตฺตรทณฺฑ (กัด-ตะ-ระ-ทัน-ดะ) แปลว่า “ไม้เท้าของของคนชรา”
“กตฺตรทณฺฑ” ภาษาไทยเอามาใช้เป็น “กัตรทัณฑ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กัตรทัณฑ์ [กัดตฺระ-] : (คำแบบ) (คำนาม) ไม้เท้าคนแก่ เช่น แล้วทรงธารพระกรกัตรทัณฑ์. (ม. ร่ายยาว วนปเวสน์). (ป. กตฺตร ว่า คนแก่ + ทณฺฑ ว่า ไม้เท้า; ส. กรฺตฺร + ทณฺฑ).”
หมายเหตุ : “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
ขยายความ :
โปรดสังเกตว่า “กตฺตร” ในบาลี อ่านว่า กัด-ตะ-ระ แต่เมื่อใช้ในภาษาไทยเป็น “กัตร” พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านว่า กัด-ตฺระ คือ ตฺร เป็นคำควบ เหมือนคำว่า ตระเตรียม เป็นต้น ไม่แยกพยางค์เป็น ตะ-ระ เหมือนบาลี
“กตฺตรทณฺฑ” ในบาลี มีความหมายเท่ากับ “ทณฺฑ” คือ ไม้เท้า ไม้ถือ หรือท่อนไม้นั่นเอง ไม่ได้หมายความว่า คนที่ถือ “กตฺตรทณฺฑ” จะต้องเป็นคนแก่ อาจกล่าวได้ว่า “กตฺตรทณฺฑ” ก็คือคำซ้อน ทำนองเดียวกับ ถนนหนทาง เสื่อสาดอาสนะ ในภาษาไทยนั่นเอง
ผู้เขียนบาลีวันละคำเปิดพจนานุกรมฯ ดูคำต่าง ๆ ตามปกติ ไปเจอคำว่า “กัตรทัณฑ์” โดยไม่ได้ตั้งใจ และไม่นึกว่าพจนานุกรมฯ จะเก็บคำนี้ไว้ด้วย
ขอถือโอกาสนำมาอภินันทนาการ “มิตรรักแฟนเพลง” เป็นอลังการแห่งภาษา ด้วยความยินดี
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม้เท้าย่อมไม่ทำร้ายคนถือ
: เว้นเสียแต่พลัดไปอยู่ในมือคนอื่น
#บาลีวันละคำ (4,459)
27-8-67
…………………………….
…………………………….