บริโภคเจดีย์ (บาลีวันละคำ 4,461)
บริโภคเจดีย์
คำนี้รวมถึงสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยประทับ
อ่านว่า บอ-ริ-โพก-คะ-เจ-ดี
ประกอบด้วย บริโภค + เจดีย์
(๑) “บริโภค”
บาลีเป็น “ปริโภค” อ่านว่า ปะ-ริ-โพ-คะ รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบด้าน) + ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ, แปลง ช เป็น ค
: ปริ + ภุชฺ = ปริภุชฺ + ณ = ปริภุชณ > ปริภุช > ปริโภช > ปริโภค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนใช้สอยรอบด้าน” หมายถึง การบริโภค, การใช้สอย, สิ่งที่ใช้สอย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปริโภค” ว่า –
(1) material for enjoyment, food, feeding (เครื่องบริโภค, อาหาร, โภชนะ)
(2) enjoyment, use (การบริโภค, การใช้สอย)
“ปริโภค” ภาษาไทยใช้ว่า “บริโภค”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บริโภค : (คำกริยา) กิน (ใช้เฉพาะอาการที่ทําให้ล่วงลําคอลงไปสู่กระเพาะ) เช่น บริโภคอาหาร, เสพ เช่น บริโภคกาม; ใช้สิ้นเปลือง, ใช้สอย, เช่น บริโภคสมบัติ, คู่กับ อุปโภค. (ป. ปริโภค).”
ในที่นี้ “บริโภค” หมายถึง เครื่องใช้สอย และเจาะจงถึงเครื่องใช้สอยของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ
(๒) “เจดีย์”
บาลีเป็น “เจติย” อ่านว่า เจ-ติ-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) จิตฺ (ธาตุ = บูชา) + ณฺย ปัจจัย, ลง อิ อาคม, ลบ ณฺ, แผลง อิ ที่ จิ-(ต) เป็น เอ (จิ > เจ)
: จิตฺ + อิ + ณฺย = จิติณฺย >จิติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลบูชา”
(2) จิ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + ณฺย ปัจจัย, ลง ต อาคม และ อิ อาคม, ลบ ณฺ, แผลง อิ ที่ จิ เป็น เอ (จิ > เจ)
: จิ + ต + อิ + ณฺย = จิติณฺย >จิติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาก่อด้วยอิฐเป็นต้น”
(3) จิตฺต (จิต, ใจ) + อิย ปัจจัย, แปลง จิตฺต เป็น เจต
: จิตฺต + อิย = จิตฺติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลทำไว้ในจิต”
(4) จิตฺต (วิจิตร, สวยงาม) + อิย ปัจจัย, แปลง จิตฺต เป็น เจต
: จิตฺต + อิย = จิตฺติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลสร้างอย่างวิจิตร”
“เจติย” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง เจดีย์, สิ่งที่ควรเคารพบูชา, กองหินซึ่งทำไว้เป็นที่ระลึกหรือเป็นสุสาน (a tumulus, sepulchral monument, cairn)
บาลี “เจติย” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “เจดีย์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เจดีย-, เจดีย์ ๑ : (คำนาม) สิ่งซึ่งก่อเป็นรูปคล้ายลอมฟาง มียอดแหลม บรรจุสิ่งที่นับถือมีพระธาตุเป็นต้น, สิ่งหรือบุคคลที่เคารพนับถือ. (ป. เจติย; ส. ไจตฺย).”
ปริโภค + เจติย = ปริโภคเจติย (ปะ-ริ-โพ-คะ-เจ-ติ-ยะ) แปลเท่าศัพท์ว่า “เจดีย์คือเครื่องบริโภค”
“ปริโภคเจติย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บริโภคเจดีย์” (บอ-ริ-โพก-คะ-เจ-ดี)
ขยายความ :
เจดีย์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าเรียกว่า “พุทธเจดีย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“พุทธเจดีย์ : (คำนาม) เจดีย์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า มี ๔ ชนิด คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์ และอุเทสิกเจดีย์.”
พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “บริโภคเจดีย์” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“บริโภคเจดีย์ : (คำนาม) เจดีย์ที่บรรจุเครื่องบริขารของพระพุทธเจ้า.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “บริโภคเจดีย์” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
บริโภคเจดีย์ : เจดีย์คือสิ่งของหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอยเกี่ยวข้อง ได้แก่ ตุมพสถูป อังคารสถูป และสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ตลอดถึงบาตร จีวร เตียง ตั่ง กุฎี วิหาร ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอย.
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ใจหิว ครองโลกทั้งโลกก็ไม่อิ่ม
: ใจอิ่ม ไม่ต้องครองอะไรเลยก็ไม่หิว
#บาลีวันละคำ (4,461)
29-8-67
…………………………….
…………………………….