ชุตินธร (บาลีวันละคำ 4,462)
ชุตินธร
ผู้ทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง
อ่านว่า ชุ-ติน-ทอน
ประกอบด้วยคำว่า ชุติ + ธร
(๑) “ชุติ”
บาลีอ่านว่า ชุ-ติ รากศัพท์มาจาก ชุตฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + อิ ปัจจัย
: ชุตฺ + อิ = ชุติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ส่องลางดีลางร้าย” (2) “ผู้สว่าง” “ผู้รุ่งเรือง”
“ชุติ” (ปกติเป็นอิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า ความช่วงโชติ, ความสวยสดงดงาม, ความรุ่งเรือง, แสงสว่าง (splendour, brightness, effulgence, light)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชุติ : (คำแบบ) (คำนาม) ความโพลง, ความรุ่งเรือง, ความสว่างไสว; ดวงดาว. (ป.; ส. ทฺยุติ, ชฺยุติ).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า บาลี “ชุติ” สันสกฤตเป็น “ทฺยุติ” และ “ชฺยุติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ทฺยุติ” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ทฺยุติ : (คำนาม) ประภา; โศภาหรือเศาภาคย์; แสง, รัศมี; การกระตุ้น, การหนุนหรือปลุn; light; beauty or splendour; a ray of light; stimulating, exciting or rousing to action.”
(๒) “ธร”
บาลีอ่านว่า ทะ-ระ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อ (อะ) ปัจจัย
: ธรฺ + อ = ธร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงไว้” หมายถึง รองรับ, สวม, เก็บ; จำไว้ในใจ, ท่องจำ (bearing, wearing, keeping; holding in mind, knowing by heart)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธร : (คำนาม) การยึดไว้, การถือไว้, การทรงไว้, การมีไว้; ผู้รักษาไว้, ผู้ทรงไว้, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น วิชาธร วินัยธร. (ป.; ส.).”
ชุติ + ธร ซ้อน นฺ ระหว่างศัพท์ เนื่องจากพยัญชนะแรกของศัพท์หลังเป็น ธ และ น เป็นพยัญชนะที่สุดวรรคของ ธ (ต ถ ท ธ น)
: ชุติ + นฺ + ธร = ชุตินฺธร อ่านแบบบาลีว่า ชุ-ติน-ทะ-ระ แปลว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง” หมายถึง ทรงไว้ซึ่งแสงสว่าง, ส่องแสง, ชัชวาล, แพรวพราว (carrying or showing light, shining, resplendent, brilliant)
“ชุตินฺธร” เขียนแบบไทยเป็น “ชุตินธร” (บาลีมีจุดใต้ นฺ, ไทยไม่มีจุดใต้ น) อ่านว่า ชุ-ติน-ทอน
คำว่า “ชุตินธร” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
แถม :
“ชุตินฺธร” ในบาลีนิยมใช้เป็น “ฉายาพระ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ชุตินฺธโร” (ชุ-ติน-ทะ-โร) เช่น –
พระมหาฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9 วัดสามพระยา (สอบได้ ป.ธ.9 ปี 2480)
พระมหาจำนงค์ ชุตินฺธโร ป.ธ.9 วัดสระเกศ (สอบได้ ป.ธ.9 ปี 2496)
พระมหาวีรวงศ์ ชุตินฺธโร ป.ธ.9 วัดมหาชัย มหาสารคาม (สอบได้ ป.ธ.9 ปี 2516)
พระมหารุ่น ชุตินฺธโร ป.ธ.9 วัดดิสหงษาราม (สอบได้ ป.ธ.9 ปี 2519)
พระมหาบุญเลิศ ชุตินฺธโร ป.ธ.9 วัดสุทัศนฯ (สอบได้ ป.ธ.9 ปี 2523)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รุ่งเรืองด้วยธน คือรุ่งเรืองเทียม
: รุ่งเรืองด้วยธรรม คือรุ่งเรืองแท้
#บาลีวันละคำ (4,462)
30-8-67
…………………………….
…………………………….