บาลีวันละคำ

คตินิยม (บาลีวันละคำ 4,464)

คตินิยม

แล้วแต่สังคมจะนำไป?

อ่านว่า คะ-ติ-นิ-ยม

ประกอบด้วยคำว่า คติ + นิยม

(๑) “คติ” 

เป็นคำบาลีตรงตัว อ่านว่า คะ-ติ รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คติ > )

: คมฺ + ติ = คมติ > คติ แปลตามศัพท์ว่า “การไป”  “ภูมิอันเหล่าสัตว์ต้องไป ด้วยการเข้าถึงตามกรรมดีกรรมชั่ว” “ที่เป็นที่ไป” หมายถึง ที่ไป, ที่อยู่, ที่เกิดใหม่, ภพภูมิที่จะต้องไปเกิด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คติ” ในเชิงขยายความไว้น่าสนใจ ขอยกมาเสนอดังนี้ –

(1) going, going away, (opp. āgati coming); direction, course, career (การไป, การจากไป, (ตรงข้าม “อาคติ” การมา); ทิศทาง, แนว, วิถีชีวิต)

(2) going away, passing on; course, esp after death, destiny, as regards another [future] existence (การจากไป, การผ่านไป; ทางไป, โดยเฉพาะหลังจากตายไป, ชะตากรรม, ที่เกี่ยวกับภพ [อนาคต] อื่น)

(3) behaviour, state or condition of life, sphere of existence, element, especially characterized as sugati & duggati, a happy or an unhappy existence (ความประพฤติ, ภาวะหรือฐานะของความเป็นอยู่, ขอบเขตของภพ, ความเป็นอยู่, ธาตุ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยายลักษณะเป็น “สุคติ” และ “ทุคฺคติ”, ความเป็นอยู่อันสุขสบายหรือเป็นทุกข์)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “คติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง 

(2) ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี 5 คือ :

๑. นิรยะ = นรก 

๒. ติรัจฉานโยนิ = กำเนิดดิรัจฉาน 

๓. เปตติวิสัย = แดนเปรต 

๔. มนุษย์ = สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล 

๕. เทพ = ชาวสวรรค์ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึง อกนิษฐพรหม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “คติ” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ – 

(1) คติ ๑ : (คำนาม) การไป; ความเป็นไป. (ป.). 

(2) คติ ๒ : (คำนาม) แบบอย่าง, วิธี, แนวทาง. (ป.).

(๒) “นิยม” 

บาลีอ่านว่า นิ-ยะ-มะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ยมุ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + (อะ) ปัจจัย

: นิ + ยมฺ = นิยมฺ + = นิยม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ต้องกำหนดด้วยเวลาเป็นต้น” (คือ เหตุผลที่จะนำมาใช้เป็นข้อกำหนดมีหลายอย่าง หนึ่งในหลายอย่างนั้นคือกาลเวลา)

นิยม” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การสำรวม, การบังคับยับยั้ง, การฝึกฝน, การควบคุมตนเอง (restraint, constraint, training, self-control)

(2) การกำหนดแน่, ความแน่นอน, การจำกัด (definiteness, certainty, limitation)

(3) กฎธรรมชาติ, กฎของจักรวาล (natural law, cosmic order)

ความหมายของ “นิยม” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิยม : (คำแบบ) (คำนาม) การกำหนด. (ป., ส.). (คำกริยา) ชมชอบ, ยอมรับนับถือ, ชื่นชมยินดี, ใช้ประกอบท้ายคำสมาสบางคำใช้เป็นชื่อลัทธิ เช่น ลัทธิชาตินิยม ลัทธิสังคมนิยม.”

คติ + นิยม = คตินิยม (คะ-ติ-นิ-ยม) เป็นคำประสมแบบไทย แปลตามศัพท์จากหน้าไปหลังว่า “แบบอย่างที่คนนิยมกัน” 

ขยายความ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “คตินิยม” ไว้ บอกไว้ดังนี้ –

คตินิยม : (คำนาม) แบบอย่างความคิดเห็น ความเชื่อ หรือวิธีการคิดรวมกันที่เป็นลักษณะของกลุ่มชน เช่น คตินิยมของกลุ่มวิชาชีพ คตินิยมทางศาสนา คตินิยมทางการเมือง. (อ. ideology).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “คตินิยม” คำอังกฤษว่า ideology

พจนานุกรม สอ เสถบุตร ที่คำว่า ideology บอกไว้ดังนี้ –

ideology ลัทธิ, ความนึกคิดซึ่งเป็นไปไม่ได้ 

ideological ซึ่งเกี่ยวกับลัทธิ, (สงคราม) ลัทธิ

ideologist คนชอบคิดชอบฝัน, คนเคร่งลัทธิ

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล ideology เป็นบาลีว่า: 

mānasikavijjā มานสิกวิชฺชา (มา-นะ-สิ-กะ-วิด-ชา) = ความรู้เกี่ยวกับจิตใจ, ความรู้เกี่ยวกับความคิด, ความรู้ในเรื่องความรู้สึกนึกคิด

แถม :

ผู้เขียนบาลีวันละคำค้นหาคำว่า “คตินิยม” จากเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ไม่พบคำนี้ แต่ไปพบคำว่า “คตินิยมบรรษัท” แม้จะเป็นคำที่ต่างออกไป แต่ก็มีคำว่า “คตินิยม” อยู่ด้วย และมีข้อความที่น่ารู้ จึงขอนำมาแถมไว้ในที่นี้

…………..

                              คตินิยมบรรษัท

           พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า คตินิยมบรรษัท (corporatism) หมายถึง รูปแบบหนึ่งของการจัดองค์การทางสังคมซึ่งกลุ่มต่าง ๆ เช่น สหภาพแรงงาน สมาคมวิชาชีพ บริษัทธุรกิจ กลุ่มกดดันทางการเมือง กลุ่มล็อบบี องค์กรอาสาสมัคร เป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หรือกลุ่มเหล่านี้ร่วมกับรัฐเป็นผู้ตัดสินใจ ปัจเจกบุคคลจะร่วมในการตัดสินใจได้โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การ หลักคตินิยมบรรษัทนี้แตกต่างกับการตัดสินใจที่ผ่านกลไกตลาด ซึ่งแต่ละคนต่างก็เลือกสินค้าตามรสนิยมตนเอง ในระดับการเมือง คตินิยมบรรษัทแตกต่างกับระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบเดิมซึ่งการตัดสินใจทางการเมืองนั้นจะกระทำโดยรัฐบาลในฐานะที่เป็นตัวแทนโดยตรงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

           มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า ระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่กำลังเคลื่อนตัวไปสู่คตินิยมบรรษัทมากขึ้น ภายใต้คตินิยมบรรษัทเช่นนี้ รัฐบาลจะตัดสินใจหลังจากปรึกษาหารือและเจรจาต่อรองกับกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในแบบไตรภาคี ได้แก่ กลุ่มการเมือง สหภาพแรงงาน สมาคมนายจ้าง  มีข้อสังเกตทางวิชาการต่อไปว่า นักการเมืองยินยอมให้องค์กรของกลุ่มต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลได้ ก็เพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ควบคุมสมาชิกของตนเป็นการตอบแทน ตัวอย่างที่เด่นชัดตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ “สัญญาประชาคม” ระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับขบวนการสหภาพแรงงานในกลางทศวรรษ ๑๙๗๐ รัฐบาลต้องปรึกษาหารือกับสมัชชาสหภาพกรรมกร (Trade Union Congress) ในการกำหนดนโยบายด้านกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการและการจ้างงาน ทั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่สมัชชาสหภาพกรรมกรควบคุมค่าจ้างแรงงานให้คงที่ไว้.

                                                          จินดารัตน์  โพธิ์นอก

                                                          ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้ว่าใครคิดอะไร เก่ง

: รู้ว่าคิดผิดหรือคิดถูก ยอดเก่ง

#บาลีวันละคำ (4,464)

1-9-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *