บาลีวันละคำ

สาธิต (บาลีวันละคำ 636)

สาธิต

อ่านว่า สา-ทิด

บาลีอ่านว่า สา-ทิ-ตะ

สาธิต” เป็นกริยากิตก์ (กิตก์ อ่านว่า กิด เป็นกริยาชนิดหนึ่งในภาษาบาลี ใช้เป็นคุณศัพท์ได้ด้วย) รากศัพท์มาจาก สาธ (ธาตุ = สำเร็จ) + อิ อาคม + ปัจจัย

: สาธ + อิ = สาธิ + = สาธิต แปลตามศัพท์ว่า “ให้สำเร็จแล้ว” หมายถึง ถูกทำให้สำเร็จ, สิ่งที่ถูกทำสำเร็จแล้ว

สาธิต” คำกริยาอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์ เป็น “สาเธติ” (สา-เท-ติ) แปลได้หลายอย่างดังต่อไปนี้ (เป็นคำที่ฝรั่งแปล จึงมีภาษาอังกฤษกำกับไว้ด้วย) –

1. ทำให้สำเร็จ, คืบหน้า, ส่งเสริม (to accomplish, further, effect)

2. ทำให้รุ่งเรือง (to make prosperous)

3. จัดแจง, ตระเตรียม (to arrange, prepare)

4. ปฏิบัติ, กระทำ (to perform, execute)

5. ทำให้ชัดเจน, นำไปสู่การสิ้นสุด (อย่างมีเหตุผล), พิสูจน์ (to make clear, bring to a (logical) conclusion, to prove)

6. เก็บหรือสะสางหนี้, ได้ (เงิน) คืน (to collect or clear a debt, to recover)

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –

สาธิต : (คำกริยา) แสดงเป็นตัวอย่าง เช่น สาธิตการสอน สาธิตการทำขนม (คำวิเศษณ์) ที่แสดงเป็นตัวอย่าง เช่น แปลงสาธิต โรงเรียนสาธิต”

: ความดี, ความรัก และการเมือง ไม่ใช่เรื่องสาธิต

(ตามความหมายในภาษาไทย)

: แต่ต้องทำให้สัมฤทธิ์เป็นผลดีขึ้นมาจริงๆ

——————

แรงบันดาลใจจากโพสต์ของ Chao Chaowalit เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 57 สรุปว่า ชื่อนักธุรกิจไทยสัญชาติอินเดียที่เป็นข่าวถูกสั่งเนรเทศ

เขียนด้วยอักษรอังกฤษว่า Satish Segal

เขียนด้วยอักษรเทวนาครีเป็น सतीश सेगल

ดังนั้น ชื่อท่านผู้นี้จึงถอดเป็นอักษรไทยได้ว่า “สตีศ เสคัล”

หาใช่ “สาธิต เซกัล” อย่างที่เห็นกันในสื่อต่างๆ ไม่

ขอบพระคุณ Chao Chaowalit ไว้ ณ ที่นี้

11-2-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย