บาลีวันละคำ

สัตยาบัน (บาลีวันละคำ 635)

สัตยาบัน

อ่านว่า สัด-ตะ-ยา-บัน

พจน.42 บอกว่า “สัตยาบัน” มาจากคำสันสกฤต สตฺย + อาปนฺน

สตฺย” ภาษาไทยใช้ว่า สัตย-, สัตย์ พจน.42 บอกไว้ว่า –

สัตย-, สัตย์ : (คำนาม) ความจริง เช่น รักษาสัตย์, คำมั่นสัญญา, เช่น เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ลูกเสือให้สัตย์ปฏิญาณ.(คำวิเศษณ์) จริง เช่น วาจาสัตย์, มักใช้เข้าคู่กับคำอื่น เช่น สัตย์ซื่อ ซื่อสัตย์ สัตย์จริง”

อาปนฺน” (อา-ปัน-นะ) เขียนแบบไทยเป็น “อาบัน” พจน.42 เก็บคำว่า “อาบัน” ไว้ด้วย บอกความหมายว่า “(คำกริยา) ต้อง เช่น อาบัติอาบัน ว่า ต้องอาบัติ; ถึง, ลุ, เช่น โสดาบัน ว่า ถึงโสตธรรม คือ กระแสพระนิพพาน”

เพราะฉะนั้น สตฺย + อาปนฺน (ตามมติของ พจน.42) ก็แปลว่า “ถึงความสัตย์” หรือ “บรรลุถึงความจริง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สตฺยาปน” เป็นคำนาม บอกความหมายว่า “ ‘สัตยาบัน’ การทำสัตยาบัน, สถิรีกรณ์, สัตยากฤติ, สัตยังการ; ratification (as a bargain &c.)”

ในคัมภีร์บาลีมีคำว่า “สจฺจาปน” (สัด-จา-ปะ-นะ) รูปคำตรงกับ “สตฺยาปน” ของสันสกฤต ประกอบด้วย สจฺจ + อาปน (ไม่ใช่ อาปนฺน อย่างที่ พจน.42 ว่า) แปลตามศัพท์ว่า “การกล่าวสัจจะไว้” “การแผ่ไปแห่งสัจจะ” หมายถึง การทำสัญญา, การวางมัดจำ, การตกลงล่วงหน้า, การปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้

พจน.42 บอกความหมายของคำว่า “สัตยาบัน” ไว้ดังนี้ –

1. การยืนยันรับรองความตกลงระหว่างประเทศที่ได้กระทําขึ้นไว้ (คำที่ใช้ในกฎหมาย)

2. การรับรองนิติกรรมที่เป็นโมฆียะอันเป็นผลให้นิติกรรมนั้นสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก (คำที่ใช้ในกฎหมาย)

3. การอ้างความสัตย์ (คำที่ใช้ในบทร้อยกรอง)

ตกลงกันไว้ แล้วปฏิบัติตาม เป็นสัตยาบัน

ตกลงกันไว้ แล้วไม่ปฏิบัติตาม เป็นตระบัดสัตย์

ปริศนาธรรม : อะไรเอ่ย

ตระบัดสัตย์ได้ไปสวรรค์

ให้สัตยาบันตกนรก

10-2-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย