เดินจงกลม – ตายท้องกลม (บาลีวันละคำ 1,540)
เดินจงกลม – ตายท้องกลม
คำที่เกิดจากความเขลา
เห็นคำที่มีผู้เขียนในเฟซบุ๊กคำหนึ่งว่า “เดินจงกลม” ลองนำไปถามท่านผู้หนึ่งว่า “-จงกลม” สะกดอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่
ได้รับคำตอบว่า น่าจะใช้ได้ถ้าหมายถึง “เดินเป็นวงกลม”
ในภาษาบาลีมีคำว่า “จงฺกม” อ่านว่า จัง-กะ-มะ รากศัพท์มาจาก –
(1) กม (ก้าวไป, ย่างไป) + อากม (ก้าวมา, ย่างกลับ), แปลง ก ที่ ก-(ม) เป็น จ, ลบ อา ที่ อา-(กม), แปลง ม ที่ (จ)-ม เป็นนิคหิต, แปลงนิคหิตเป็น งฺ
: กม + อากม = กมากม > จมากม > จมกม > จํกม > จงฺกม แปลตามศัพท์ว่า “การก้าวไปก้าวมา”
(2) กมฺ (ธาตุ = ก้าวไป) + อ ปัจจัย, ซ้อน ก หน้าธาตุ (กมฺ > กกมฺ), แปลง ก เป็น จ, ลงนิคหิตอาคมที่ จ, แปลงนิคหิตเป็น งฺ
: กมฺ + อ = กม > กกม > จกม > จํกม > จงฺกม แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ก้าวไป”
“จงฺกม” มีความหมาย 2 อย่าง คือ –
(1) การเดินไปเดินมา, เดินจงกรม (walking up & down) = การเดินจงกรม
(2) สถานที่ซึ่งคนเดิน, ที่เดินจงกรม (the place where one is walking, a terraced walk, cloister) = สถานที่สำหรับเดินจงกรม
ในสันสกฤตมีคำว่า “จงฺกฺรมณ” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“จงฺกฺรมณ : (คำนาม) ‘จงกรมณ์,’ ผู้เดิรไปช้าๆ; การไป, การเดิรไปช้าๆ; one who goes slowly; going, proceeding slowly.”
“จงฺกม” ในภาษาไทยใช้อิงสันกฤตเป็น “จงกรม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จงกรม : (คำกริยา) เดินไปมาโดยมีสติกำกับอย่างพระเดินเจริญกรรมฐาน เรียกว่า เดินจงกรม. (ส.; ป. จงฺกม).”
เป็นอันว่า “เดินจงกลม” นอกจากเขียนผิดแล้ว ยังอธิบายพลาดไปไกลอีกด้วย เพราะ “เดินจงกรม” ไม่ใช่เดินเป็นวงกลมเหมือนตัว O แต่เดินไปเดินกลับเหมือนตัว I
เพราะฉะนั้น “เดินจงกลม” จึงไม่มี มีแต่ “เดินจงกรม”
เห็นคำเขียนผิดว่า “เดินจงกลม” ทำให้นึกไปถึงคำว่า “ตายท้องกลม” ซึ่งเป็นคำที่เขียนผิดเพราะความเขลาอีกคำหนึ่ง
คำถูกคือ “ตายทั้งกลม”
–ทั้ง– ไม่ใช่ –ท้อง–
–ทั้งกลม ไม่ใช่ –ท้องกลม
ขอให้ดูคำในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ดังต่อไปนี้ –
(1) กลม ๔ : (คำวิเศษณ์) (คำโบราณ) ปวง, หมด, สิ้น, เช่น ทั้งกลม คือ ทั้งปวง, จึ่งได้เมืองแก่กูทงงกลํ. (จารึกสยาม); เรียกหญิงที่ตายพร้อมกับลูกที่อยู่ในท้องว่า หญิงตายทั้งกลม หมายถึง ตายทั้งหมด คือ ตายทั้งแม่ทั้งลูก.
(2) ทั้งกลม : (คำวิเศษณ์) ทั้งปวง, ทั้งหมด, ทั้งสิ้น; เรียกหญิงที่ตายพร้อมกับลูกที่อยู่ในท้องด้วยว่า ตายทั้งกลม คือ ตายทั้งหมด.
(3) ตายทั้งกลม : (คำวิเศษณ์) ตายทั้งหมด, ตายทั้งแม่ทั้งลูก, เรียกหญิงที่ตายพร้อมกับลูกที่อยู่ในท้องว่า หญิงตายทั้งกลม.
พจน.54 ยกคำในจารึกสยามมาอ้างเป็นหลักฐานว่า –
“จึ่งได้เมืองแก่กูทงงกลํ”
“ทงงกลํ” เป็นการสะกดคำตามอักขรวิธีโบราณ อ่านว่า “ทั้งกลม” มีความหมายว่า ทั้งปวง, ทั้งหมด, ทั้งสิ้น
“ตายทั้งกลม” หมายถึง ตายทั้งหมด คือตายทั้งแม่ทั้งลูกที่อยู่ในท้อง
เป็นอันยืนยันว่าคำเดิมนั้นเป็น –ทั้งกลม ไม่ใช่ –ท้องกลม
เหตุที่มักพูดผิดเขียนผิดเป็น “ตายท้องกลม” ก็เพราะ –
(1) ไม่เคยรู้จักคำว่า “ทั้งกลม” ว่าหมายถึงอะไร
(2) ในภาษาไทย เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่า “ท้อง” ความหมายหนึ่งก็คือ ตั้งครรภ์ เมื่อพูดถึงสตรีว่า “ท้อง” ก็เป็นอันรู้กันว่าตั้งครรภ์ คือมีลูกอยู่ในท้อง
(3) เพราะไม่รู้จักคำว่า “ทั้งกลม” และเพราะเข้าใจกันอยู่ว่า มีครรภ์ ยังไม่คลอดลูก เรียกว่า “ท้อง” รวมทั้งอาจจินตนาการไปด้วยว่า เมื่อมีครรภ์ อวัยวะส่วนที่เป็น “ท้อง” ก็ต้อง “กลม” เมื่อพูดถึงสตรีตายขณะที่มีครรภ์ว่า “ตาย-ท-กลม” จึงเหมาะเจาะอย่างยิ่งที่จะเชื่อมั่นว่าคำนี้คือ “ตายท้องกลม”
เหตุผลตามข้อ (3) นั้น ชวนให้เชื่อว่าสมเหตุสมผลที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าไม่ยืนยันหลักภาษาไทยคำเก่าไว้ให้เด็ดขาด ต่อไปอีกไม่นาน คำว่า “ตายท้องกลม” จะกลายเป็นคำที่ถูกต้อง ส่วนคำว่า “ตายทั้งกลม” จะถูกเข้าใจว่าเป็นคำผิดไป
คำเทียบเป็นตัวอย่างที่เคยมีคนเข้าใจผิดเป็นถูก และน่าจะยังมีคนเชื่อว่าผิดเป็นถูกอยู่ไม่น้อยก็อย่างเช่น
– ไปสู่ “สุขคติ” แปลว่า ไปสู่คติที่มีความสุข เข้าใจผิดไปว่า สุข + คติ แต่คำที่ถูกต้องคือ “สุคติ” (สุ + คติ)
– “ผาสุข” เข้าใจผิดและแปลผิดไปว่า “มีความสุขมั่นคงเหมือนภูผา” ถ้าสะกดเป็น “ผาสุก” ก็แปลว่า “หินที่ถูกเผาจนสุก” จะหมายถึงมีความสุขได้อย่างไร (นักทำพจนานุกรมมีชื่อท่านหนึ่งอธิบายไว้เช่นนี้จริงๆ) เพราะไม่เคยรู้ว่า คำนี้มาจากบาลีว่า “ผาสุก” ก ไก่ สะกด พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ผาสุก” เป็นอังกฤษว่า pleasant, convenient, comfortable
ถ้าไม่ช่วยกันยืนยันหลักภาษาไว้ให้เด็ดขาด ต่อไปภายหน้า คำผิดจะกลายเป็นคำที่ถูกต้อง ส่วนคำที่ถูกต้องจะถูกเข้าใจว่าเป็นคำผิดไปเพราะความเขลา
…………
: อันความเขลาเรื่องภาษาน่าสงสาร
: แต่ไม่นานไม่แน่พอแก้ไข
: ถ้าแม้นเขลาเรื่องชีวิตเรื่องจิตใจ
: ย่อมหลงไปในสงสารนานอนันต์
22-8-59