บาลีวันละคำ

ดุลพินิจ (บาลีวันละคำ 1,697)

ดุลพินิจ

อ่านว่า ดุน-ละ-พิ-นิด ก็ได้

อ่านว่า ดุน-พิ-นิด ก็ได้

(ตาม พจน.54)

ประกอบด้วย ดุล + พินิจ

(๑) “ดุล

บาลีเป็น “ตุละ” (ตุ-ละ) รากศัพท์มาจาก ตุล (คำนาม = ตาชั่ง) + ปัจจัย

: ตุล + = ตุล แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดด้วยตาชั่ง” ใช้เป็นคุณศัพท์หมายถึง สิ่งที่นับได้ ชั่งดูได้

ในบาลี ศัพท์นี้มักใช้ในรูปคำปฏิเสธ คือเป็น “อตุล” (อะ-ตุ-ละ ที่ใช้ในภาษาไทยว่า “อดุล”) แปลว่า เปรียบเทียบไม่ได้, ไม่มีที่เปรียบ, วัดไม่ได้หรือสุดที่จะเปรียบ (incomparable, not to be measured, beyond compare or description)

อนึ่ง “ดุล” ในภาษาไทยยังใช้ในความหมายของ “ตุลา” ในบาลีอีกด้วย

ตุลา” รากศัพท์มาจาก ตุลฺ (ธาตุ = ชั่ง) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ตุลฺ + = ตุล + อา = ตุลา แปลตามศัพท์ว่า “อุปกรณ์เป็นเครื่องชั่ง

ตุลา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ขื่อหรือปั้นจั่นสำหรับยก, พาไปหรือค้ำ, จันทัน (a beam or pole for lifting, carrying or supporting, a rafter)

(2) คานสำหรับชั่งน้ำหนัก, คันชั่ง, เครื่องชั่ง (a weighing pole or stick, scales, balance)

(3) มาตร, มาตรฐาน, ระดับ (measure, standard, rate)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ดุล” ไว้ว่า –

ดุล, ดุล– : (คำนาม) ตราชู, คันชั่ง, มาตราชั่งนํ้าหนักโบราณ เช่น ทองคําหนัก ๒๐ ชั่ง เรียกว่า ดุลหนึ่ง; ความเท่ากัน, ความเสมอกัน, เช่น รายรับรายจ่ายเท่ากัน เรียกว่า งบประมาณสู่ดุล; ชื่อกลุ่มดาวรูปคันชั่ง เรียกว่า ราศีดุล เป็นราศีที่ ๖ ในจักรราศี, ราศีตุล ก็ว่า. (คำวิเศษณ์) เท่ากัน, เสมอกัน, ทัดเทียมกัน. (ป., ส.).”

(๒) “พินิจ

คำนี้น่าจะตัดมาจากบาลีว่า “วินิจฺฉย” (วิ-นิด-ฉะ-ยะ) ที่ใช้ในภาษาไทยว่า “วินิจฉัย

วินิจฺฉย” รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ฉิ (ธาตุ = ตัด) + ปัจจัย, ซ้อน จฺ ระหว่าง นิ กับ ฉิ, แปลง อิ (ที่ ฉิ) เป็น อย (สูตรเต็มว่า “แปลง อิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย”)

: วิ + นิ + จฺ + ฉิ = วินิจฺฉิ + = วินิจฺฉิ > วินิจฺฉย แปลตามศัพท์ว่า (1) “การตัดลงไปโดยวิเศษ” (ตัดอย่างเด็ดขาดแน่นอน) (2) “การตัดสินโดยอาการหลายอย่าง” (พิจารณาถึงเหตุผลหลายๆ อย่าง) (3) “การตัดสินโดยน้อมไปสู่วิธีต่างๆ” (นำเอาเรื่องที่ตัดสินไปเทียบเคียงกับเรื่องต่างๆ)

วินิจฺฉย” ในภาษาบาลีใช้ความหมายดังนี้ –

(1) การวินิจฉัย, การแสดงความแตกต่าง, ความคิด, ความเห็นที่หนักแน่น; ความรู้ตลอด (discrimination, distinction, thought, firm opinion; thorough knowledge)

(2) การตัดสินใจ; การสืบสวน, การพิจารณา, คำวินิจฉัย (decision; investigation, trial, judgment)

(3) ศาล, ห้องพิพากษา (court house, hall of judgment)

(4) ขบวนการของการตัดสินใจ, การวิเคราะห์อย่างละเอียด, การประชุมปรึกษา, การพิจารณา, การสืบให้รู้แน่ (process of judgment, detailed analysis, deliberation, consideration, ascertainment) (เป็นศัพท์เฉพาะในตรรกศาสตร์และจิตวิทยา)

วินิจฺฉย > วินิจฺ (ฉัย) แผลง เป็น = พินิจ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พินิจ” ไว้ว่า –

พินิจ : (คำกริยา) พิจารณา, ตรวจตรา, เช่น เพ่งพินิจ.”

ดุล + พินิจ = ดุลพินิจ แปลตามศัพท์ว่า “การพิจารณาตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาประดุจชั่งด้วยตาชั่ง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ดุลพินิจ : (คำนาม) การวินิจฉัยที่เห็นสมควร, ดุลยพินิจ ก็ใช้.”

…………..

ข้อสังเกต :

คำว่า “ดุลพินิจ” นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ดุลพินิจ [ดุนละ-] น. การวินิจฉัยที่เห็นสมควร, ดุลยพินิจ ก็ใช้.”

แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ดุลพินิจ [ดุนละ-, ดุน-] น. การวินิจฉัยที่เห็นสมควร, ดุลยพินิจ ก็ใช้.”

ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่เห็นความแตกต่าง

ความแตกต่างอยู่ตรงที่ฉบับ พ.ศ.2542 บอกคำอ่านไว้อย่างเดียวว่า ดุน-ละ-พิ-นิด

แต่ฉบับ พ.ศ.2554 บอกคำอ่านไว้ 2 อย่าง คือ ดุน-ละ-พิ-นิด และ ดุน-พิ-นิด (ไม่มี -ละ-)

นั่นแปลว่า มีคนจำนวนมากที่อ่านคำนี้ตามความสะดวกปาก และในที่สุดการอ่านตามสะดวกปากนั้นกลายเป็นถูกต้อง จนพจนานุกรมฯ ต้องยอมแพ้ คือยอมรับว่า คำว่า “ดุลพินิจ” ซึ่งต้องอ่านตามหลักภาษาว่า ดุน-ละ-พิ-นิด จะอ่านผิดหลักภาษาว่า ดุน-พิ-นิด (ไม่มี -ละ-) ก็ได้ ไม่ผิด

และนั่นแปลว่า คนไทยใช้ “ดุลพินิจ” ในการอ่านน้อยลงไปทุกที

…………..

ดูก่อนภราดา!

ดังฤๅมนุษย์จึงจะไม่ควรฝึกใช้ดุลพินิจให้จงมากเล่า

ในเมื่อ –

: ห้ามจิตไม่ให้ไหวเมื่อมีใครมาโยก

: ง่ายกว่าห้ามโลกไม่ให้หลอกลวง

26-1-60