นิธิ (บาลีวันละคำ 4,476)
นิธิ
คำสั้น แต่ผลยาว
อ่านว่า นิ-ทิ
“นิธิ” ในบาลี รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบ อา ที่ ธา (ตามสูตรว่า “ลบสระหน้า” เพราะอยู่หน้า อิ ปัจจัย) : ธา + อิ > ธ + อิ
: นิ + ธา = นิธา > นิธ + อิ = นิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรัพย์อันเขาฝังไว้”
“นิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) การวางลง, ที่เก็บ; ทรัพย์สมบัติที่ฝังไว้ (setting down, receptacle; hidden treasure)
(2) การใส่, เสื้อคลุม (putting on, a cloak)
บาลี “นิธิ” สันสกฤตก็เป็น “นิธิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นิธิ : (คำนาม) ทิพยทรัพยอันหนึ่งของท้าวกุเวร, ท่านว่านิธิ (ของท้าวกุเวร) นั้นมีจำนวนอยู่เก้าอย่าง: คือ ปัทมะ, มหาปัทมะ, ศังขะ, มกระ, กัจจปะ, มุกุนทะ, นันทะ, นีละ, และขรรพะ; อาธาร, ที่อาศัยหรือที่เก็บ, ดุจโกษาคาร, ภางฑาคาร, ธานยโกศ, รัง ฯลฯ’ ธนทรัพย์, ทรัพย์จำนวนใดจำนวนหนึ่ง; สมุทร์; one of Kuvera’s nidhis or divine treasures, nine of which are enumerated: viz. the Padma, Mahāpadma, Saṅkha, Makara, Kachchapa, Mukunda, Nanda, Nīla, and Kharba; a receptacle, a place of asylum or accumulation, as a treasury, a granary, a nest, &c.; any sum or quantity of wealth or valuables; the ocean.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิธิ : (คำแบบ) (คำนาม) ขุมทรัพย์. (ป., ส.).”
ขยายความ :
ในภาษาไทย คำที่ลงท้ายว่า –นิธิ ที่คุ้นกันดีคือ “มูลนิธิ” คือทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยมิได้มุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน
“มูลนิธิ” ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย
คำที่เสียงใกล้ๆ กัน คือ “ทุนนิธิ” วัตถุประสงค์ก็คล้ายกับมูลนิธิ แต่ไม่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย
เข้าใจว่า “ทุนนิธิ” นั้น คิดขึ้นมาเพื่อเลี่ยงความยุ่งยากของ “มูลนิธิ” นั่นเอง
อีกคำหนึ่งคือ “บุญนิธิ” เป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์บาลี แต่ไม่ค่อยมีคนรู้จักในภาษาไทย มีผู้ใช้อยู่บ้างก็เฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ
“บุญนิธิ” หมายถึง สะสมบุญ สั่งสมบุญ หรือเก็บบุญใส่ย่ามเพื่อเป็นเสบียงเดินทางในสังสารวัฏ
…………..
แถม :
ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรว่าด้วย “นิธิ” ขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อเจริญศรัทธาและปัญญา ดังนี้
…………..
อสาธารณมญฺเญสํ
อโจรหรโณ นิธิ
กยิราถ ธีโร ปุญฺญานิ
โย นิธิ อนุคามิโก ฯ
ขุมทรัพย์คือบุญไม่สาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น
โจรก็ลักไปไม่ได้
บุญนิธิอันใดติดตามตนไปได้
คนฉลาดพึงทำบุญนิธิอันนั้น
เอส เทวมนุสฺสานํ
สพฺพกามทโท นิธิ
ยํ ยํ เทวาภิปตฺเถนฺติ
สพฺพเมเตน ลพฺภติ ฯ
บุญนิธินั้นอำนวยผลที่น่าปรารถนาทุกอย่าง
แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เทวดาและมนุษย์ปรารถนายิ่งแล้วซึ่งอิฐผลใด ๆ
อิฐผลทั้งหมดนั้น ๆ อันบุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
สุวณฺณตา สุสรตา
สุสณฺฐานํ สุรูปตา
อาธิปจฺจํ ปริวาโร
สพฺพเมเตน ลพฺภติ ฯ
ความมีวรรณะงาม ความมีเสียงเพราะ
ความมีทรวดทรงดี ความมีรูปงาม
ความเป็นใหญ่ยิ่ง ความมีบริวาร
อิฐผลทั้งหมดนั้นอันบุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
ปเทสรชฺชํ อิสฺสริยํ
จกฺกวตฺติสุขํ ปิยํ
เทวรชฺชมฺปิ ทิพฺเพสุ
สพฺพเมเตน ลพฺภติ ฯ
ความเป็นพระราชาเฉพาะประเทศ ความเป็นจักรพรรดิราช
สุขของพระเจ้าจักรพรรดิที่น่าชื่นชม
ความเป็นพระราชาแห่งเทวดาในหมู่เทพทั้งหลาย
อิฐผลทั้งหมดนั้นอันบุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
มานุสฺสิกา จ สมฺปตฺติ
เทวโลเก จ ยา รติ
ยา จ นิพฺพานสมฺปตฺติ
สพฺพเมเตน ลพฺภติ ฯ
สมบัติของมนุษย์
ความยินดีในเทวโลก
และสมบัติคือพระนิพพาน อันใด
(กล่าวคือ มนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ)
อิฐผลทั้งหมดนั้นอันบุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
มิตฺตสมฺปทมาคมฺม
โยนิโส เจ ปยุญฺชโต
วิชฺชาวิมุตฺติวสีภาโว
สพฺพเมเตน ลพฺภติ ฯ
มีมิตรสหายพรั่งพร้อม (เป็นเหตุให้ขยัน)
ขยันประกอบการโดยอุบายที่ชอบ (เป็นเหตุให้ชำนาญ)
เป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ (คือรู้แจงจนหลุดพ้นได้)
อิฐผลทั้งหมดนั้นอันบุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
ปฏิสมฺภิทา วิโมกฺขา จ
ยา จ สาวกปารมี
ปจฺเจกโพธิ พุทฺธภูมิ
สพฺพเมเตน ลพฺภติ ฯ
ความแตกฉาน การหลุดพ้นจากกิเลส
การบรรลธรรมเป็นพระอรหันตสาวก
การได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า และความเป็นพระพุทธเจ้า อันใด
อิฐผลทั้งหมดนั้นอันบุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
เอวํ มหตฺถิกา เอสา
ยทิทํ ปุญฺญสมฺปทา
ตสฺมา ธีรา ปสํสนฺติ
ปณฺฑิตา กตปุญฺญตนฺติ ฯ
ความถึงพร้อมด้วยบุญนั้น
เป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่หลวงอย่างนี้
เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญา
จึงสรรเสริญความเป็นผู้ทำบุญไว้แล
ที่มา: นิธิกัณฑ์ ขุทกนิกาย ขุทกปาฐะ พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 9
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนมีบุญ หาทรัพย์ได้แน่ ๆ
: แต่คนมีทรัพย์ ไม่แน่ว่าจะหาบุญได้
#บาลีวันละคำ (4,476)
13-9-67
…………………………….
…………………………….