บาลีวันละคำ

ตถาคตโพธิสัทธา (บาลีวันละคำ 1,677)

ตถาคตโพธิสัทธา

ถ้าเข้าใจให้ถูก ก็เป็นชาวพุทธที่ถูกต้อง

อ่านว่า ตะ-ถา-คะ-ตะ-โพ-ทิ-สัด-ทา

ประกอบด้วย ตถาคต + โพธิ + สัทธา

(๑) “ตถาคต

ภาษาไทยอ่านว่า ตะ-ถา-คด บาลีอ่านว่า ตะ-ถา-คะ-ตะ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตถาคต : (คำนาม) คำเรียกพระพุทธเจ้า, คำที่พระพุทธเจ้าใช้แทนพระองค์เอง. (ป. ตถาคต ว่า พระผู้ไปแล้วอย่างนั้น เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกพระองค์เอง).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของคำว่า “ตถาคต” ไว้ดังนี้ –

ตถาคต : พระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกหรือตรัสถึงพระองค์เอง แปลได้ความหมาย 8 อย่าง.

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “ตถาคต” (Tathāgata) เป็นอังกฤษว่า –

1. the Accomplished One; the Thus-come; the Thus-gone; the Truth-winner; an epithet of the Buddha.

2. An Arahant.

3. a being.

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตถาคต” ว่า he who has won through to the truth (ผู้ซึ่งได้ชัยชนะจนบรรลุสัจธรรม)

สรุปว่า คำว่า “ตถาคต” ในภาษาบาลี หมายถึง :

(1) พระพุทธเจ้า

(2) พระอรหันต์

(3) สัตวโลก คือมนุษย์ทั่วไป

(ดูเพิ่มเติมที่ “ตถาคต” บาลีวันละคำ (1,670) 30-12-59)

(๒) “โพธิ

บาลีอ่านว่า โพ-ทิ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ พุ-(ธฺ) เป็น โอ (พุธฺ > โพธ)

: พุธฺ + อิ = พุธิ > โพธิ แปลตามศัพทว่า (1) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้” (2) “สิ่งเป็นเหตุรู้” (3) “ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้

ความหมายของ “โพธิ” ในบาลี –

(1) ความรู้อันยอดเยี่ยม, การตรัสรู้, ความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงมี (supreme knowledge, enlightenment, the knowledge possessed by a Buddha)

(2) ต้นไม้ตรัสรู้, ต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์, ต้นไม้จำพวกไทร (อสฺสตฺถ, ต้นอสัตถพฤกษ์) ซึ่งพระโคดมพุทธเจ้าบรรลุพระโพธิญาณ (the tree of wisdom, the sacred Bo tree, the fig tree (Assattha, Ficus religiosa) under which Gotama Buddha arrived at perfect knowledge)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

โพธิ-, โพธิ์ : (คำนาม) ความตรัสรู้; ชื่อต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, บัดนี้หมายถึงต้นไม้จําพวกโพ. (ป., ส.).”

(๓) “สัทธา

ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศรัทธา” ในที่นี้เขียนตามรูปบาลี

สทฺธา” รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, ดี, ด้วยดี) + ธา (ธาตุ = เชื่อถือ, นับถือ, มอบไว้, ฝากไว้) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิต (ที่ สํ) เป็น ทฺ (สํ > สทฺ)

: สํ > สทฺ + ธา = สทฺธา + = สทฺธา แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เชื่อถือ” “สิ่งที่เป็นเหตุให้เชื่อถือ” “สิ่งที่เป็นเหตุให้มอบจิตไว้ด้วยดี” หมายถึง ความเชื่อ (faith)

ในทางธรรม “สัทธาศรัทธา” หมายถึงเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ, ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล, ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม, ความเลื่อมใสซาบซึ้ง ชื่นใจ สนิทใจ เชื่อมั่น มีใจโน้มน้อมมุ่งแล่นไปตามไปรับคุณความดีในบุคคลหรือสิ่งนั้นๆ, ความมั่นใจในความจริง ความดี สิ่งดีงาม และในการทำความดี ไม่ลู่ไหลตื่นตูมไปตามลักษณะอาการภายนอก

การผสมคำ :

(1) ตถาคต + โพธิ = ตถาคตโพธิ แปลว่า “การตรัสรู้ของตถาคต

(2) ตถาคตโพธิ + สัทธา = ตถาคตโพธิสัทธา แปลว่า “เชื่อการตรัสรู้ของตถาคต

ตถาคตโพธิสัทธา” เป็นหนึ่งในสัทธา 4 อย่างของชาวพุทธ คือ (1) กัมมสัทธา (2) วิปากสัทธา (3) กัมมัสสกตาสัทธา (4) ตถาคตโพธิสัทธา

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [181] บอกความหมายของ “ตถาคตโพธิสัทธา” ไว้ดังนี้ –

ตถาคตโพธิสัทธา : เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุดบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง (Tathāgatabodhi-saddhā: confidence in the Enlightenment of the Buddha)

…………..

อภิปราย:

ตถาคต” หมายถึงพระพุทธเจ้าก็ได้ หมายถึงมนุษย์ทั่วไปก็ได้ เพราะฉะนั้น “ตถาคตโพธิสัทธา” จึงหมายถึง (1) เชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็ได้ (2) เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ว่าสามารถที่จะบรรลุธรรมได้ ก็ได้

พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์เหมือนเรา ยังสามารถตรัสรู้ธรรมได้ด้วยสติปัญญาของพระองค์เองโดยไม่ต้องมีผู้วิเศษที่ไหนมาช่วยดลบันดาล

เราก็เป็นมนุษย์เหมือนพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เราย่อมสามารถปฏิบัติตามธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนแล้วบรรลุถึงความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งปวงได้ด้วยสติปัญญาของเราเอง โดยไม่ต้องหวังหรือรอให้ผู้วิเศษที่ไหนมาช่วยดลบันดาลได้เช่นเดียวกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: นักสู้ ขาดความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง ยากที่จะชนะ

: นักพรต ขาดความตั้งมั่นในคลองธรรมะ ดังฤๅจะได้บรรลุพระนฤพาน

6-1-60