บาลีวันละคำ

ทุกขิตสัตว์ (บาลีวันละคำ 4,482)

ทุกขิตสัตว์

สัตว์พันธุ์อะไร?

ผู้เขียนบาลีวันละคำอ่านพบคำว่า “ทุกขิตสัตว์” ในโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ก็นึกขันอยู่ในใจ เอ จะมีใครรู้หรือไม่ว่า “ทุกขิตสัตว์” นี่เป็นสัตว์พันธุ์ไหนหรือตัวอะไร

ถ้าให้คนทั่วไปอ่านเท่าที่ตาเห็น จะต้องมีคนอ่านว่า ทุก-ขิด-สัด และถ้าถามว่าคือสัตว์อะไร คงมีคนบอกได้ถูกน้อยที่สุด นี่แหละปัญหา

ทุกขิตสัตว์” อ่านตามหลักภาษาว่า ทุก-ขิ-ตะ-สัด แยกศัพท์เป็น ทุกขิต + สัตว์ 

(๑) “ทุกขิต

คำนี้พึงทราบว่า ไม่ใช่ ทุก + ขิต คือไม่ใช่ “ทุก” ที่เป็นคำไทย 

ทุก” ที่เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ทุก ๑, ทุก : (คำวิเศษณ์) แต่ละหน่วย ๆ ของจำนวนทั้งหมด, ทั้งหมดโดยหมายแยกเป็นหน่วย ๆ, เช่น คนที่เกิดมาแล้วมีปัญญาด้วยกันทุกคน แต่ทุกคนมีปัญญาไม่เท่ากัน ทุก ๆ คนจะต้องช่วยเหลือกัน.”

พึงทราบว่า “ทุกขิต” ไม่ใช่ “ทุก” คำไทย + ขิต แต่เป็น ทุกข + อิต หรือ ทุกข + อิ + ในบาลี

ทุกขิต” เขียนแบบบาลีเป็น “ทุกฺขิต” ว่า ทุก-ขิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ทุกฺข + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย

(ก) “ทุกฺข” อ่านว่า ทุก-ขะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ทุ (คำอุปสรรค = ชั่ว, ยาก, ลำบาก, ทราม) + ขมฺ (ธาตุ = อดทน) + กฺวิ ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ทุ + กฺ + ขมฺ), ลบ กฺวิ และลบที่สุดธาตุ (ขมฺ > )

: ทุ + กฺ + ขมฺ = ทุกฺขมฺ + กฺวิ = ทุกฺขมกฺวิ > ทุกฺขม > ทุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่ทำได้ยากที่จะอดทน” คือยากที่จะทนได้ = ทนนะทนได้ แต่ยากหน่อย หรือยากมาก

(2) กุจฺฉิต (น่ารังเกียจ) + (แทนศัพท์ว่า “สุข” = ความสุข), ลบ จฺฉิต (กุจฺฉิต > กุ), แปลง กุ เป็น ทุ, ซ้อน กฺ ระหว่าง ทุ กับ (ทุ + กฺ + )

: กุจฺฉิต + กฺ + = กุจฺฉิตกฺข > กุกฺข > ทุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ความสุขที่น่ารังเกียจ” เป็นการมองโลกในแง่ดี คือความทนได้ยากที่เกิดขึ้นนั้นมองว่า-ก็เป็นความสุขแบบหนึ่ง แต่เป็นความสุขที่น่าเกลียด หรือน่ารังเกียจ

(3) ทฺวิ (สอง) + ขนุ (ธาตุ = ขุด) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ทฺวิ เป็น ทุ, ซ้อน กฺ ระหว่าง ทฺวิ กับธาตุ (ทฺวิ + กฺ + ขนฺ), ลบที่สุดธาตุ (ขนฺ > )

: ทฺวิ + กฺ + ขน = ทฺวิกฺขนฺ + = ทฺวิกฺขนฺ > ทุกฺขน > ทุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่ขุดจิตเป็นสองอย่าง” คือจิตปกติเป็นอย่างหนึ่งอยู่แล้ว พอมีทุกข์มากระทบ ก็กระเทือนกลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทำนองเดียวกับสำนวนที่ว่า “หัวใจแตกสลาย

(4) ทุกฺขฺ (ธาตุ = ทุกข์) + (อะ) ปัจจัย

: ทุกฺขฺ + = ทุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่ทำให้เป็นทุกข์” คำแปลสำนวนนี้ในภาษาบาลีมีความหมาย แต่ในภาษาไทย เท่ากับพูดว่า มืดคือค่ำ และ ค่ำคือมืด คือเป็นเพียงบอกให้รู้ว่า สิ่งนั้นเรียกว่า “ทุกข์” หรือเล่นสำนวนว่า “ทุกข์ก็คือทุกข์”

ความหมายที่เข้าใจทั่วไป “ทุกข์” คือความยากลำบาก, ความไม่สบายกายไม่สบายใจ (grief & sorrow, afflictions of pain & misery, all kinds of misery)

(ข) ทุกฺข + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย

: ทุกฺข + อิ + = ทุกฺขิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถึงแล้วซึ่งทุกข์” หมายถึง ได้รับทุกข์, มีทุกข์, เป็นทุกข์, มีความลำบาก, ผิดหวัง; ทุกข์ยาก, ลำบาก, ป่วยไข้ (afflicted, dejected, unhappy, grieved, disappointed; miserable, suffering, ailing)

คำที่ตรงกันข้ามกับ “ทุกฺขิต” คือ “สุขิต” อ่านว่า สุ-ขิ-ตะ แปลว่า “ผู้ถึงแล้วซึ่งสุข” หมายถึง เป็นสุข, ได้รับพร, ดีใจ, มีอนามัยดี, สะดวกสบาย (happy, blest, glad, healthy, easy)

ในคัมภีร์จะพบคำว่า “ทุกฺขิโต” และ “สุขิโต” ได้ทั่วไป นั่นก็คือ “ทุกฺขิต” “สุขิต” คำนี้

(๒) “สัตว์

บาลีเป็น “สตฺต” อ่านว่า สัด-ตะ รากศัพท์มาจาก สญฺช (ธาตุ = ติด, ข้อง) + ปัจจัย, ลบ ญฺช (สญฺช > ), ซ้อน ระหว่างธาตุกับปัจจัย 

: สญฺช > + ตฺ + = สตฺต แปลตามศัพทว่า (1) “ผู้ติดข้องอยู่ในรูปารมณ์เป็นต้น” (2) “ผู้ยังผู้อื่นให้ติดข้อง” (3) “ผู้ประกอบด้วยคุณลักษณะของผู้ติดข้อง

ความหมายข้อ (3) หมายถึงว่าแม้ผู้ปราศจากกิเลสไม่ติดข้องอะไรอีกแล้ว ก็ยังเรียกว่า “สตฺต” ตามสำนวนนิยม 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สตฺต” ว่า a living being, creature, a sentient & rational being, a person (สัตว์โลก, สัตว์, สิ่งที่มีความรู้สึกและมีเหตุผล, คน)

สตฺต” สันสกฤตเป็น “สตฺตฺว” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สัตว์” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัตว-, สัตว์ : (คำนาม) สิ่งมีชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากพรรณไม้ ส่วนมากมีความรู้สึกและเคลื่อนไหวย้ายที่ไปได้เอง, ความหมายที่ใช้กันเป็นสามัญหมายถึง สัตว์ที่ไม่ใช่คน, เดรัจฉาน. (ส. สตฺตฺว; ป. สตฺต).”

ทุกฺขิต + สตฺต = ทุกฺขิตสตฺต (ทุก-ขิ-ตะ-สัด-ตะ) แปลว่า “สัตว์ผู้ถึงแล้วซึ่งทุกข์” หมายถึง ชีวิตใด ๆ ก็ตาม ทั้ง human ทั้ง animal ที่กำลังมีความทุกข์ นั่นแหละคือ “ทุกฺขิตสตฺต

ทุกฺขิตสตฺต” บาลีอ่านว่า ทุก-ขิ-ตะ-สัด-ตะ

ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทุกขิตสัตว์” อ่านว่า ทุก-ขิ-ตะ-สัด มีความหมายตรงกับคำที่เราพูดกันติดปากว่า “สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น”

มีรากศัพท์และคำแปลดังที่ได้แสดงมา

ช่วยกันจำและเอาไปใช้พูดใช้เขียนกันอีกคำหนึ่งก็เป็นการดี ทำให้ภาษาไทยเรารุ่มรวยขึ้นอีก

(รุ่มรวย : (คำวิเศษณ์) รวยมาก, รวยรุ่ม หรือ ร่ำรวย ก็ว่า.-พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำไมจะต้องไปเบียดเบียนกัน

: ที่เป็นอยู่ทุกวันยังทุกข์ไม่พออีกฤๅ

#บาลีวันละคำ (4,482)

19-9-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *