บาลีวันละคำ

อักษร กับ ภาษา (บาลีวันละคำ 4,483)

อักษร กับ ภาษา

จะต้องให้บอกอีกกี่ครั้งกี่คราจึงจะเข้าใจ

อักษร” อ่านว่า อัก-สอน

ภาษา” อ่านว่า พา-สา

(๑) “อักษร

บาลีเป็น “อกฺขร” อ่านว่า อัก-ขะ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ขร ( = แข็ง, ธาตุ = พินาศ) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ, แปลง เป็น  

: + กฺ + ขรฺ = นกฺขรฺ + = นกฺขรฺ > อกฺขร แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ไม่เป็นของแข็ง” (2) “สิ่งที่ไม่พินาศไป” (คือไม่เสื่อมสิ้นไป)

(2) (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ขี (ธาตุ = สิ้นไป) + อร ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ, แปลง เป็น , แปลง อี (ที่ ขี) เป็น ะ 

: + กฺ + ขี = นกฺขี + อร = นกฺขีร > นกฺขร > อกฺขร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่สิ้นไป” (คือใช้ไม่มีวันหมด)

อกฺขร” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคำนาม หมายถึง เสียงที่เปล่งออก, เสียงสูงต่ำ, คำ, ถ้อยคำ (sounds, tones, words) 

(2) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มั่นคง, คงเส้นคงวา, ทนทาน, ยั่งยืน (constant, durable, lasting)

บาลี “อกฺขร” สันสกฤตเป็น “อกฺษร” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

อกฺษร : (คำนาม) อักขระตัวหนึ่ง; a letter of the alphabet.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “อักขระ” ตามบาลี และ “อักษร” ตามสันสกฤต บอกไว้ดังนี้ –

(1) อักขร-, อักขระ : (คำนาม) ตัวหนังสือ. (ป.; ส. อกฺษร).

(2) อักษร, อักษร– : (คำนาม) ตัวหนังสือ, วิชาหนังสือ เช่น ฉลาดรอบรู้ในอักษรสยาม. (ส.; ป. อกฺขร).

(๒) “ภาษา” 

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “ภาสา” (ส เสือ) อ่านว่า พา-สา รากศัพท์มาจาก –

(1) ภาส (ธาตุ = พูด) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ภาส + = ภาส + อา = ภาสา แปลตามศัพท์ว่า “การพูด” “วาจาอันคนพูด

(2) ภา (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ภา + = ภาส + อา = ภาสา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ส่องสว่าง” “สิ่งที่รุ่งเรือง

ความหมายที่เข้าใจกัน “ภาสา” คือ คำพูด, ถ้อยคำ, วาจา (speech, language)

บาลี “ภาสา” (ส เสือ) สันสกฤตเป็น “ภาษา” (ษ ฤๅษี) 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(1) ภาษา : (คำนาม) ถ้อยคำ; speech.

(2) ภาษา : (คำนาม) สรัสวดี, วากเทวี; Saraswati, goddess of speech.

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “ภาสา” (ส เสือ) ตามบาลี และ “ภาษา” (ษ ฤๅษี) ตามสันสกฤต บอกไว้ดังนี้ –

(1) ภาสา : (คำนาม) ภาษา. (ป.).

(2) ภาษา : (คำนาม) :

(1) ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่น ภาษาราชการ ภาษากฎหมาย ภาษาธรรม

(2) เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยาอาการที่สื่อความได้ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง ภาษามือ

(3) (คำโบราณ) คนหรือชาติที่พูดภาษานั้น ๆ เช่น มอญ ลาว ทะวาย นุ่งห่มและแต่งตัวตามภาษา (พงศ. ร. ๓)

(4) (ศัพท์คอมพิวเตอร์) กลุ่มของชุดอักขระ สัญนิยม และกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อสั่งงานคอมพิวเตอร์ เช่น ภาษาซี ภาษาจาวา

(5) โดยปริยายหมายความว่าสาระ, เรื่องราว, เนื้อความที่เข้าใจกัน, เช่น ตกใจจนพูดไม่เป็นภาษา เขียนไม่เป็นภาษา ทำงานไม่เป็นภาษา

ขยายความ :

ภาษา กับ อักษร เป็นเรื่องหญ้าปากคอกที่หลายคนยังเข้าใจผิด

ภาษา กับ อักษร มีทั้งส่วนเหมือนและส่วนต่าง 

ส่วนเหมือนคือ อักษรเป็นส่วนหนึ่งของภาษา

แต่มีส่วนต่างที่มักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นส่วนเหมือน นั่นคือ –

ภาษา” คือเสียงที่เปล่งออกมาเป็นข้อความอย่างหนึ่ง ผู้ที่เข้าใจภาษานั้นก็จะรู้ว่าเสียงนั้นมีความหมายว่าอย่างไร

อักษร” คือลายลักษณ์ที่บันทึกเสียงหรือคำที่เปล่งออกมา ผู้ที่รู้อักษรนั้นและเข้าใจอักขรวิธีของอักษรนั้น ก็จะสามารถอ่านได้ตรงกับเสียงในภาษานั้น

ตัวอย่างเช่น –

(1) นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

นี่คือ “อักษรไทย

(2) namo tassa bhagavato arahato sammāsambuddhassa

นี่คือ “อักษรโรมัน” (ที่เรามักเรียกติดปากว่าอังกฤษ)

แต่ข้อความทั้งสองข้อข้างต้นนี้ไม่ใช่ “ภาษาไทย” และก็ไม่ใช่ “ภาษาอังกฤษ

แต่เป็น “ภาษาบาลี

ยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ยังคงเป็น “ภาษาบาลี” อยู่

นี่คือความแตกต่างระหว่าง “ภาษา” กับ “อักษร” ที่หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่าเหมือนกัน 

เช่นพูดว่า “พระคาถาชินบัญชรฉบับภาษาขอม” 

พูดว่า “พระคาถาชินบัญชรฉบับภาษาขอม” เป็นการพูดผิด

พระคาถาชินบัญชรฉบับ “ภาษาขอม” ไม่มี 

มีแต่พระคาถาชินบัญชรฉบับ “ภาษาบาลี” แต่เขียนเป็น “อักษรขอม” ไม่ใช่ “ภาษาขอม” หรือ “ภาษาเขมร” 

ที่ใช้ผิดจนแก้ไม่ได้แล้วก็คือ เวลาเขียนชื่อไทยเป็นอักษรโรมัน (อังกฤษ) เช่นชื่อ “ทองย้อย แสงสินชัย” เขียนเป็น Thongyoi Sangsinchai 

คนสมัยนี้จะพูดว่า “เขียนเป็นภาษาอังกฤษ” หรือ “แปลเป็นภาษาอังกฤษ” ซึ่งเป็นการพูดผิด

Thongyoi Sangsinchai ไม่ใช่ “ภาษาอังกฤษ” 

และยังไม่ได้ “แปลเป็นภาษาอังกฤษ” แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Thongyoi ก็ยังเป็น “ภาษาไทย” 

Sangsinchai ก็ยังเป็น “ภาษาไทย” 

เพียงแต่เขียนด้วย “อักษรอังกฤษ” เท่านั้นเอง

พอจะเข้าใจหรือยังว่า “อักษร” กับ “ภาษา” ต่างกันอย่างไร

พอจะสัญญากับตัวเองได้หรือยังว่า ต่อไปนี้จะไม่พูดผิดใช้ผิดอีกแล้ว

หรือจะต้องให้บอกอีกกี่ครั้งกี่คราจึงจะเข้าใจ

…………..

ดูก่อนภราดา!

ไม่รู้ : แก้ด้วยการบอกให้รู้

รู้ผิดหรือเข้าใจผิด : แก้ด้วยการชี้แจงข้อเท็จจริง

ยึดถือผิดเชื่อผิด : ไม่ต้องแก้ เพราะแก้อย่างไรก็ไม่หาย

#บาลีวันละคำ (4,483)

20-9-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *