กาสาวพัสตร์ [2] (บาลีวันละคำ 4,485)
กาสาวพัสตร์ [2]
ก็ยังมีคนวัดสะกดผิดไม่เลิก
อ่านว่า กา-สา-วะ-พัด
คำที่อ่านว่า -พัด ในคำว่า กา-สา-วะ-พัด ภาษาไทยสะกดเป็น “-พัสตร์”
“-พัสตร์” พอ-ไม้หันอากาศ-สอ-ตอ-รอ การันต์
ไม่ใช่ “-พัตร”
“กาสาวพัสตร์” ไม่ใช่ “กาสาวพัตร”
“กาสาวพัสตร์” ไม่ใช่ “กาสาวพัตร”
“กาสาวพัสตร์” ไม่ใช่ “กาสาวพัตร”
คำนี้ต้องตั้งหลักกันให้ดี อย่าให้หลงกลพจนานุกรมฯ
“กาสาวพัสตร์” ประกอบด้วยคำว่า กาสาว + พัสตร์
(๑) “กาสาว”
อ่านว่า กา-สา-วะ รูปศัพท์เดิมมาจาก กสาว + ณ ปัจจัย
(ก) “กสาว” (กะ-สา-วะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ก (น้ำ) + สิ (ธาตุ = เสพ, กิน) + อว ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ สิ) เป็น อา
: ก + สิ = กสิ > กสา + อว = กสาว แปลตามศัพท์ว่า “รสเป็นเหตุให้ดื่มน้ำ” (เมื่อรสชนิดนี้ไปกลั้วที่คอ ก็จะเกิดอาการอยากดื่มน้ำ)
(2) ก (น้ำ) + สุ (ธาตุ = ฟัง) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง อุ (ที่ สุ) เป็น โอ, แปลง โอ เป็น อาว
: ก + สุ = กสุ > กโส > กสาว + อ = กสาว แปลตามศัพท์ว่า “รสที่ยังน้ำให้ได้ยิน” (คือทำให้เรียกหาน้ำ)
“กสาว” มีความหมายหลายอย่าง คือ :
(1) ดินเปียก หรือยางชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นสีทาฝาผนัง (a kind of paste or gum used in colouring walls)
(2) น้ำยาห้ามเลือดที่ต้มกลั่นจากพันธุ์ไม้ (an astringent decoction extracted from plants)
(3) (น้ำ) มีรสฝาด (astringent)
(4) (ผ้า) มีสีเหลืองปนแดง, มีสีส้ม (reddish-yellow, orange coloured)
(5) (ความหมายทางธรรม) อกุศลมูล, กิเลสที่ย้อมดุจน้ำฝาด (the fundamental faults)
(ข) กสาว + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ (ที่ ก-) เป็น อา (ตามสูตรบาลีไวยากรณ์ว่า “ด้วยอำนาจปัจจัยที่เนื่องด้วย ณ”)
: กสาว + ณ = กสาว > กาสาว แปลตามศัพท์ว่า “-ที่ย้อมด้วยนำฝาด”
โปรดสังเกตว่า คำเดิมคือ “กสาว” (กะ–) = น้ำฝาด
เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์ จึงเป็น “กาสาว” (กา–) = “-ที่ย้อมด้วยนำฝาด”
อนึ่ง “กสาว” ใช้เป็น “กสาย” (กะ-สา-ยะ) ก็มี
และ “กาสาว” ใช้เป็น “กาสาย” (กา-สา-ยะ) ก็มี
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาสาว-, กาสาวะ : (คำนาม) ผ้าย้อมฝาด, เขียนเป็น กาสาว์ ก็มี. (ป.).”
(๒) “พัสตร์”
บาลีเป็น “วตฺถ” อ่านว่า วัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –
(1) วสฺ (ธาตุ = ปกปิด) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ (ที่ วสฺ) เป็น ตฺ
: วสฺ + ถ = วสฺถ > วตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาปกปิดร่างกาย”
(2) วุ (ธาตุ = ปิด, กั้น) + ถ ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (วุ + ตฺ + ถ), แปลง อุ ที่ วุ เป็น อะ (วุ > ว)
: วุ + ตฺ + ถ = วุตฺถ > วตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องป้องกันร่างกาย”
“วตฺถ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ผ้า; เสื้อผ้า, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องแต่งตัว (cloth; clothing, garment, raiment)
บาลี “วตฺถ” สันสกฤตเป็น “วสฺตฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“วสฺตฺร : (คำนาม) ‘วัสตร์, พัสตร์,’ ผ้า, เสื้อผ้า, เครื่องนุ่งห่มหรือแต่งตัว; cloth, clothes, raiment, covering for the body.”
บาลี “วตฺถ” ภาษาไทยใช้เป็น “วัตถ์” และเขียนอิงรูปคำสันสกฤต “วสฺตฺร” แปลง ว เป็น พ : วสฺ– > พสฺ– = พัสตร > พัสตร์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) วัตถ์ : (คำนาม) ผ้า, เสื้อผ้า, เครื่องนุ่งห่ม. (ป.; ส. วสฺตฺร).
(2) พัสตร์ : (คำนาม) ผ้า, เขียนเป็น พัตร ก็มี. (ส. วสฺตฺร; ป. วตฺถ).
(3) พัตร : (คำนาม) พัสตร์, ผ้า. (ส. วสฺตฺร; ป. วตฺถ).
กาสาว + วตฺถ = กาสาววตฺถ (กา-สา-วะ-วัด-ถะ) แปลว่า “ผ้าที่ย้อมด้วยนำฝาด” หมายถึง เครื่องนุ่งห่มของบรรพชิต โดยเฉพาะนักบวชในพระพุทธศาสนา (cloth dyed with astringent decoction; the yellow robe; ochre robes)
“กาสาววตฺถ” ในภาษาไทยใช้เป็น “กาสาวพัสตร์” (กาสาววตฺถ > กาสาววสฺตฺร > กาสาวพัสตร์ )
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาสาวพัสตร์ : ผ้าย้อมฝาด คือผ้าเหลืองพระ. (ป. กาสาว + ส. วสฺตร ว่า ผ้า).”
ข้อควรระวัง :
(๑) คำว่า “กาสาวพัสตร์” –พัสตร์ ส เสือ สะกด แล้วจึงตามด้วย –ตร์ ไม่ใช่ “กาสาวพัตร์” หรือ “กาสาวพัตร”
(๒) คำว่า “พัสตร์” แม้พจนานุกรมฯ จะบอกว่า “เขียนเป็น พัตร ก็มี” (คือ พัต- ต สะกด ไม่มี ส, และ ตร ไม่มีการันต์) แต่ คำว่า “กาสาวพัสตร์” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “เขียนเป็น กาสาวพัตร ก็มี”
เพราะฉะนั้น ถ้าเขียน “พัสตร์” คำเดียว จะสะกดเป็น “พัตร” ก็ได้ แต่ถ้ามีคำว่า “กาสาว-” นำหน้า ต้องสะกดเป็น “กาสาวพัสตร์” ไม่ใช่ “กาสาวพัตร”
ถ้าพิจารณาดูให้ดี จะเห็นว่าที่สะกดเป็น “พัตร” นั้น เป็นการเขียนผิดโดยแท้ ทั้งนี้เพราะคนเขียนเข้าใจผิด ได้ยินเสียง -พัด ก็สะกดตามใจนึกเป็น “พัตร” หาได้เฉลียวใจคิดไม่ว่าคำเดิมเป็น วตฺถ > วสฺตฺร >พัสตร > พัสตร์
ถ้าพูดอย่างไม่เกรงใจพจนานุกรมฯ ก็ต้องบอกว่า คำนิยามที่คำว่า “พัสตร์” ที่ว่า “เขียนเป็น พัตร ก็มี” นั้น เท่ากับไปยอมรับคำผิดว่าเป็นถูก สมควรตัดออก
คำเทียบที่เป็นตัวอย่างการยอมรับว่าผิดเป็นถูก เช่นคำว่า “ดูกร”
คำว่า “ดูก่อน” อักขรวิธีของคนเก่าเขียนเป็น “ดูกร” ต้องอ่าน ดู-ก่อน
แต่คนที่ไม่เข้าใจอักขรวิธีของคนเก่า ไปหลงอ่านตามที่ตาเห็นว่า ดู-กะ-ระ แล้วก็พากันยอมรับว่า “ดูกร” อ่านว่า ดู-กะ-ระ ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่ผิดเต็ม ๆ
“ดูกร” อ่านว่า ดู-ก่อน
ไม่ใช่ ดู-กะ-ระ
แทนที่จะบอกกันว่า “ดูกร” อ่านว่า ดู-กะ-ระ เป็นการอ่านผิด กลับบอกกันว่า “ดูกร” อ่านว่า ดู-กะ-ระ ก็ได้ อ่านว่า ดู-กะ-ระ ก็ถูก
ผิดจึงกลายเป็นถูกมาจนทุกวันนี้
มิหนำซ้ำยังช่วยกันตั้งทฤษฎี “ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ” อธิบายว่า ไม่มีผิดไม่ถูกในตัวเอง แล้วแต่จะตกลงกัน
ปิดโอกาสที่จะช่วยกันแก้ไขผิดให้กลับเป็นถูก
แต่เปิดโอกาสให้ช่วยกันทำผิดให้กลายเป็นถูกได้เรื่อยไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การเข้าใจผิด เป็นเรื่องธรรมดา
: แต่การยอมรับว่าผิดเป็นถูก เป็นเรื่องผิดธรรมดา
#บาลีวันละคำ (4,485)
22-9-67
…………………………….
…………………………….