บาลีวันละคำ

ปราดเปรื่อง  (บาลีวันละคำ 4,494)

ปราดเปรื่อง 

ไม่ใช่ ปราชญ์เปรื่อง

ผู้เขียนบาลีวันละคำอ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านเขียนคำว่า “ปราดเปรื่อง” เป็น “ปราชญ์เปรื่อง” จึงขอเอามาเขียนเป็นบาลีวันละคำ

ความจริงคำนี้เคยเขียนมาแล้ว แต่ขอประมวลมาไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ปราดเปรื่อง” ไว้ตรงตัว บอกไว้ว่า – 

ปราดเปรื่อง : (คำวิเศษณ์) มีความคิดแคล่วคล่องว่องไว, เปรื่องปราด ก็ว่า.”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “เปรื่องปราด ก็ว่า” ตามไปดูที่คำว่า “เปรื่องปราด” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

เปรื่องปราด : (คำวิเศษณ์) มีความคิดแคล่วคล่องว่องไว, ปราดเปรื่อง ก็ว่า.”

เป็นอันยันกันและกันอยู่ในตัว คือคำนี้ใช้ว่า “ปราดเปรื่อง” ก็ได้ “เปรื่องปราด” ก็ได้ มีความหมายตรงกัน

ไปดูที่คำว่า “ปราด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ดังนี้ 

ปราด : (คำกริยา) แล่นอย่างฉับไว เช่น ปราดเข้าใส่. (คำวิเศษณ์) อาการที่เป็นไปอย่างฉับไว เช่น วิ่งปราด.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้ใหม่ ที่คำตั้งเพิ่มคำว่า “ปร๊าด” เข้าไปอีกคำหนึ่ง และปรับแก้คำนิยามเป็นดังนี้ –

ปราด, ปร๊าด : (ภาษาปาก) (คำกริยา) เดินหรือวิ่งตรงเข้าไปหรือออกมาอย่างรวดเร็ว เช่น ปราดเข้าไป ปร๊าดออกมา. (คำวิเศษณ์) อาการที่เดินหรือวิ่งตรงเข้าไปหรือออกมาอย่างรวดเร็ว เช่น เดินปราด วิ่งปร๊าด.”

ที่คำว่า “ปราด, ปร๊าด” นี้ มีลูกคำอีก 2 คำ คือ คือ “ปราดเปรียว” และ “ปราดเปรื่อง

คำว่า “ปราดเปรียว” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

ปราดเปรียว : (คำวิเศษณ์) ว่องไว, คล่องแคล่ว.”

คำว่า “ปราดเปรื่อง” ยกมาให้ดูไว้แล้วข้างต้น

ส่วนคำว่า “เปรื่อง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

เปรื่อง : (คำกริยา) เชี่ยวชาญ, ปรุโปร่ง, แตกฉาน, เช่น ปัญญาเปรื่อง สมองเปรื่อง. (คำวิเศษณ์) เสียงดังอย่างเสียงถ้วยชามกระทบกันหรือตกแตก.”

ที่คำว่า “เปรื่อง” นี้ มีลูกคำอีก 1 คำ คือ “เปรื่องปราด” ดังที่ยกมาให้ดูไว้แล้วข้างต้น

เป็นอันว่า พจนานุกรมฯ เก็บไว้แต่ “ปราดเปรื่อง” และ “เปรื่องปราด” ไม่มี “ปราชญ์เปรื่อง” หรือ “เปรื่องปราชญ์

ย้ำยืนยันว่า เมื่อจะใช้คำนี้ ขอให้สะกดเป็น “ปราดเปรื่อง” หรือ “เปรื่องปราด” ไม่ใช่ “ปราชญ์เปรื่อง” หรือ “เปรื่องปราชญ์” อย่างที่มักเขียนผิด

ก็เมื่อเรามีคำที่สะกดว่า “ปราดเปรื่อง” และ “เปรื่องปราด” ใช้อยู่แล้ว มีความจำเป็นอะไรอีกเล่าที่จะต้องใช้ว่า “ปราชญ์เปรื่อง” หรือ “เปรื่องปราชญ์” ให้แปลกออกไป 

คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมท่านย่อมรู้อยู่เต็มอกว่า ในภาษาไทยมีคำว่า “ปราชญ์” ใช้อยู่อีกคำหนึ่ง ถ้าท่านต้องการให้ใช้คำว่า “ปราชญ์” ทำไมท่านจึงไม่กำหนดให้สะกดเป็น “ปราชญ์เปรื่อง” หรือ “เปรื่องปราชญ์” เล่า? 

การที่ท่านกำหนดให้สะกดเป็น “ปราดเปรื่อง” และ “เปรื่องปราด” ย่อมแสดงว่า “ปราดเปรื่อง” และ “เปรื่องปราด” นี้ เป็นคำไทย ไม่ได้เอามาจาก “ปราชญ์” อันเป็นคำสันสกฤตนั่นเลย

ขยายความ :

ไปดูที่คำว่า “ปราชญ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปราชญ์ : (คำนาม) ผู้มีปัญญารอบรู้. (ส.).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ปราชญ์” เป็นคำสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปฺราชฺญ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺราชฺญ : (คำคุณศัพท์) ‘ปราชญ์’ หมั่นค้น; ฉลาด; patient in investigation; wise;- (คำนาม) บัณฑิต, นรผู้คงแก่เรียนหรือฉลาด; นรผู้เฉลียวฉลาด; โพธ, พุทธิ, ความรู้; สตรีผู้ฉลาด; วธูของบัณฑิต; a Paṇḍit, a learned or wise man; a skilful man; knowledge, understanding; an intelligent woman; the wife of a Paṇḍit.”

ปฺราชฺญ” ในสันสกฤต ตรงกับ “ปญฺญ” ในบาลี

ปญฺญ” รูปคำเดิมเป็น “ปญฺญา” อ่านว่า ปัน-ยา รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ญา (ธาตุ = รู้) ซ้อน ญฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: + ญฺ + ญา = ปญฺญา + กฺวิ = ปญฺญากฺวิ > ปญฺญา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้” (2) “การรู้โดยทั่วถึง

ปญฺญา” หมายถึง ความฉลาด, เหตุผล, ความรอบรู้, การเล็งเห็น, ความรู้, ความระลึกรู้ (intelligence, reason, wisdom, insight, knowledge, recognition)

จากความหมายของคำอุปสรรค “ = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก” นักอธิบายธรรมะนิยมขยายความคำว่า “ปญฺญา” ว่า –

(1) “ทั่ว” = รู้ทั่วถ้วนทั่วถึง

(2) “ข้างหน้า” = รู้ล่วงหน้า คือรู้ว่าเหตุอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร, ต้องการผลอย่างนี้จะต้องทำเหตุอย่างไร

(3) “ก่อน” = รู้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด

(4) “ออก” = รู้แล้วนำชีวิตหลุดออกจากปัญหา พ้นจากทุกข์ได้

หลักภาษา :

(1) ปญฺญา เป็นคำนาม แปลว่า “ความรู้” เรานิยมทับศัพท์ว่า ปัญญา

(2) ถ้าเป็นคุณศัพท์ หมายถึง “ผู้มีปัญญา” แจกรูปตามรูปปุงลิงค์ (คำเพศชาย) ปฐมาวิภัตติ เอกวจนะ รูปคำจะเป็น “ปญฺโญ” (ปัน-โย)

(3) ปญฺโญ รูปก่อนแจก คือ “ปญฺญ” (ปัน-ยะ) ก็คือ “ปญฺญา” นั่นเอง แต่แปลงรูปจาก “ปญฺญา” (คำนาม) กลายเป็น “ปญฺญ” (คำวิเศษณ์หรือคุณศัพท์) ซึ่งตรงกับสันสกฤตว่า “ปฺราชฺญ

(4) ถ้ารูปเดิมยังเป็น “ปญฺญา” (คำนาม ไม่ใช่คุณศัพท์) สันสกฤตจะเป็น “ปฺราชฺญา” ตรงกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “ปรัชญา

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปัญญา : (คำนาม) ความรอบรู้, ความรู้ทั่ว, ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด, เช่น คนมีปัญญา หมดปัญญา. (ป.).”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สะกดคำผิดจากพจนานุกรมก็ไม่ผิดกฎหมาย

: แต่ชาติที่เจริญแล้วทั้งหลายย่อมเขียนหนังสือสะกดคำตามพจนานุกรม

#บาลีวันละคำ (4,494)

1-10-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *