บาลีวันละคำ

ทรชน-ทุรชน (บาลีวันละคำ 641)

ทรชน-ทุรชน

อ่านว่า ทอ-ระ-ชน / ทุ-ระ-ชน

ประกอบด้วย ทร + ชน, ทุร + ชน

บาลีเป็น “ทุชฺชน” อ่านว่า ทุด-ชะ-นะ

ประกอบด้วย ทุ + ชน

ทร” (ทอ-ระ-) และ “ทุร” (ทุ-ระ-) พจน.42 บอกไว้ดังนี้ –

(1) ทร– คําอุปสรรค แปลว่า ชั่ว, ยาก, ลําบาก, น้อย, ไม่มี, เช่น ทรชน ทรลักษณ์ ทรพล. (บาลี. ทุ, ทุรฺ; สันสกฤต. ทุสฺ).

(2) ทุร– (คำวิเศษณ์) คําประกอบหน้าคําศัพท์ หมายความว่า ชั่ว, ยาก, ลําบาก, น้อย, ไม่มี, เช่น ทุรค ว่า ที่ไปถึงยาก, ทางลําบาก. (สันสกฤต)

ทร” และ “ทุร” ตรงกับ “ทุ” ในบาลี แต่ “ทุ” ในบาลี จะแปลงเป็น “ทุร” หรือ “ทูร” เมื่อคำที่ “ทุ” ไปประสมขึ้นต้นด้วยสระ

ในที่นี้ “ชน” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ : ทุ + ชน บาลีจึงต้องเป็น ทุชฺชน (ซ้อน ชฺ)

ชน” (ชะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้

ชน” หมายถึง คน, ประชาชน, สัตว์, ผู้เกิด บางทีก็ใช้ทับศัพท์ว่า ชน

พจนานกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของศัพท์ว่า “ชน” ไว้ว่า

(1) ถ้าเป็นเอกพจน์ หมายถึง an individual, a creature, person, man (บุคคล, สัตว์, คน)

(2) ถ้าเป็นพหูพจน์ หมายถึง men, persons, people, beings (มหาชน, ประชาชน, สัตว์โลก)

ทุ + ชน = ทุชฺชน > ทร + ชน = ทรชน, ทุร + ชน = ทุรชน แปลตามศัพท์ว่า “คนชั่ว” หมายถึง คนร้าย, คนพาล, คนเลว, คนไม่ดี, คนโกง, คนเกะกะเกเร, คนชักชวนในทางฉิบหาย

พจน.42 บอกไว้ดังนี้ –

ทรชน : คนชั่วร้าย, ทุรชน ก็ว่า

ทุรชน : ทรชน, คนชั่วร้าย

คติจาก “ทุชฺชน” :

-จช  ทุชฺชนสงฺสคฺคํ (จะชะ  ทุชชะนะสังสัคคัง)

= ละเว้นการสมคบกับคนชั่วช้า

-ภช  สาธุสมาคมํ ( ภะชะ  สาธุสะมาคะมัง)

= คบหาสมาคมกับคนดี

-กร  ปุญฺญมโหรตฺตํ (กะระ  ปุญญะมะโหรัตตัง)

= ทำบุญทวีทุกคืนวันสถาวร

-สร  นิจฺจมนิจฺจตํ (สะระ  นิจจะมะนิจจะตัง)

= ระลึกถึงความไม่แน่นอนไว้เป็นนิตยกาล

(จ ภ ก ส-คาถากาสลัก)

คติจาก “ทรชน-ทุรชน” :

๏ งาสารฤๅห่อนเหี้ยน…หดคืน

คำกล่าวสาธุชนยืน…….อย่างนั้น

ทุรชนกล่าวคำฝืน……..คำเล่า

หัวเต่ายาวแล้วสั้น……..เล่ห์ลิ้นทรชน ๚ะ๛

(โคลงโลกนิติ 25-ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน)

——————–

(สนองคำปรารภของท่านอาจารย์ Napalai Suwannathada)

15-2-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย