บาลีวันละคำ

สมานสังวาส (บาลีวันละคำ 1,014)

สมานสังวาส

อ่านว่า สะ-มา-นะ-สัง-วาด

(ไม่ใช่ สะ-หฺมาน–)

ประกอบด้วย สมาน + สังวาส

(๑) “สมาน

บาลีอ่านว่า สะ-มา-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = ห้อย, ย้อย) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ยืดเสียง อะ ที่ –มฺ เป็น อา

: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมาน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ห้อยอยู่” คืออยู่เคียงคู่กัน หมายถึง เหมือนกัน, เสมอกัน, เท่ากัน, อย่างเดียวกัน (similar, equal, even, same)

(๒) “สังวาส

บาลีเป็น “สํวาส” (สัง-วา-สะ) รากศัพท์มาจาก สํ (ร่วมกัน, พร้อมกัน) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ –วฺ เป็น อา

: สํ + วสฺ = สํวส + = สํวส > สํวาส แปลตามศัพท์ว่า “การอยู่ร่วมกัน” “การอยู่ด้วยกัน” ใช้ในความหมายดังนี้ :

(1) การอยู่ด้วยกัน, การอยู่ร่วมกัน (living with, co-residence)

(2) ความสนิทสนม (intimacy)

(3) การอยู่กินด้วยกัน, การร่วมประเวณี (cohabitation, sexual intercourse)

(ดูเพิ่มเติม : “สังวาส” บาลีวันละคำ (317) 25-3-56)

สมาน + สํวาส = สมานสํวาส แปลตามศัพท์ว่าว่า “การอยู่ร่วมกันกับผู้ที่เหมือนกัน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมานสํวาส” ว่า living together with equals (อยู่ร่วมกันกับผู้มีศีลเสมอกัน)

สมานสํวาส ในภาษาไทยใช้ว่า “สมานสังวาส

ในทางวินัยของสงฆ์ ภิกษุที่บวชในนิกายเดียวกัน มีข้อวัตรปฏิบัติไปในทางเดียวกัน อยู่ร่วมกันได้ เรียกว่า “สมานสังวาส

ถ้าบวชต่างนิกายกัน หรือมีข้อวัตรปฏิบัติแตกต่างกัน รังเกียจกันและกัน ก็อยู่ร่วมกันไม่ได้ เรียกว่า “นานาสังวาส” (ดู “นานาสังวาส” บาลีวันละคำ (669) 17-3-57)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

สมานสังวาส : มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมเสมอกัน, ผู้ร่วมสังวาส หมายถึง ภิกษุสงฆ์ผู้สามัคคีร่วมอุโบสถสังฆกรรมกัน; เหตุให้ภิกษุผู้แตกกันออกไปแล้วกลับเป็นสมานสังวาสกันได้อีก มี 2 อย่าง คือ

1. ทำตนให้เป็นสมานสังวาสเอง คือ สงฆ์ปรองดองกันเข้าได้ หรือภิกษุนั้นแตกจากหมู่แล้วกลับเข้าหมู่เดิม

2. สงฆ์ระงับอุกเขปนียกรรม ( = วิธีการลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้วไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติ ด้วยการตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว) ที่ลงโทษภิกษุนั้น แล้วรับเข้าสังวาสตามเดิม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมานสังวาส : (คำนาม) การอยู่ร่วมเสมอกัน (ใช้แก่พระสงฆ์ที่มีศีลเสมอกัน ทําอุโบสถหรือสังฆกรรมร่วมกันได้). (ป. สมานสํวาส).”

: คนไม่ดีปรับปรุงตัวขึ้นไปอยู่ร่วมเสมอกับคนดี – สมานสังวาสวัฒนะ

: คนดีปล่อยตัวลงไปอยู่ร่วมเสมอกับคนไม่ดี – สมานสังวาสหายนะ

26-2-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย