วิปากสัทธา (บาลีวันละคำ 1,679)
วิปากสัทธา
เชื่อเถิดว่าเป็นผลที่ตนทำ
ประกอบด้วย วิปาก + สัทธา
(๑) “วิปาก”
บาลีอ่านว่า วิ-ปา-กะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปจฺ (ธาตุ = ทำให้สิ้นสุด; หุง, ต้ม; สุก, ไหม้) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ป-(จฺ) เป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (ปจฺ > ปาจ), แปลง จ ที่สุดธาตุเป็น ก
: วิ + ปจฺ = วิปจฺ + ณ = วิปจณ > วิปจ > วิปาจ > วิปาก แปลตามศัพท์ว่า (1) “เป็นที่สุดแห่งเหตุ” (2) “สิ่งที่สุกแล้วอย่างไม่เหลือ” (คือไม่มีส่วนที่ยังดิบเหลืออยู่)
“วิปาก” (ปุงลิงค์) หมายถึง ผล, การสำเร็จผล, ผลิตผล; ผลที่เกิดขึ้น, ผลที่เกิดจากเหตุหรือผลของกรรม, ผลกรรม, (fruit, fruition, product; result, effect, retribution)
ฝรั่งที่ทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความหมายของ “วิปาก” ไปอีกว่าเปรียบเหมือน reward or punishment (รางวัลหรือการถูกลงโทษ) ที่ได้รับ แล้วแต่ว่าจะทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม
“วิปาก” ในบาลี เราเอามาใช้ว่า “วิบาก”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิบาก : (คำนาม) ผล, ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วอันทําไว้แต่อดีต, เช่น กุศลวิบาก กรรมวิบาก. (คำวิเศษณ์) ลำบาก เช่น ทางวิบาก วิ่งวิบาก. (ป., ส. วิปาก).”
(๒) “สัทธา”
ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศรัทธา” ในที่นี้เขียนตามรูปบาลี
“สทฺธา” รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, ดี, ด้วยดี) + ธา (ธาตุ = เชื่อถือ, นับถือ, มอบไว้, ฝากไว้) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิต (ที่ สํ) เป็น ทฺ (สํ > สทฺ)
: สํ > สทฺ + ธา = สทฺธา + อ = สทฺธา แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เชื่อถือ” “สิ่งที่เป็นเหตุให้เชื่อถือ” “สิ่งที่เป็นเหตุให้มอบจิตไว้ด้วยดี” หมายถึง ความเชื่อ (faith)
(ดูเพิ่มเติมที่ “ตถาคตโพธิสัทธา” บาลีวันละคำ (1,677) 6-1-60)
วิปาก + สัทธา = วิปากสัทธา แปลตามศัพท์ว่า “เชื่อผล (ของกรรม)”
“วิปากสัทธา” เป็นหนึ่งในสัทธา 4 อย่างของชาวพุทธ คือ (1) กัมมสัทธา (2) วิปากสัทธา (3) กัมมัสสกตาสัทธา (4) ตถาคตโพธิสัทธา
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [181] บอกความหมายของ “วิปากสัทธา” ไว้ดังนี้ –
วิปากสัทธา : เชื่อวิบาก, เชื่อผลของกรรม, เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วต้องมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว (Vipākasaddhā: belief in the consequences of actions)
…………..
อภิปราย:
“วิปากสัทธา” หมายถึง เชื่อว่าผลดีผลร้ายที่ตนได้รับล้วนเกิดจากการกระทำของตนเอง ไม่ใช่เกิดจากการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน (หากมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นมาช่วยดลบันดาลให้จริง ก็ต้องเป็นเพราะการกระทำของเราอยู่นั่นเอง มิใช่ว่าอยู่ดีๆ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไปเที่ยวดลบันดาลให้ใครได้โดยไม่มีเหตุ)
แต่พระพุทธศาสนาสอนว่า ผลจากการกระทำของตัวเองแน่นอนกว่าผลที่หวังรอหรือวอนขอจากใครๆ
คนไทยส่วนมากขาด “วิปากสัทธา” ได้สุขได้ทุกข์หรือสมหวังผิดหวังก็มักเชื่อไปว่าเกิดจากเหตุภายนอก แทนที่จะเห็นว่าเกิดจากการกระทำของตนเอง
บางคนสอบได้ด้วยความสามารถของตัวเองแท้ๆ แต่กลับเชื่อว่าที่สอบได้ก็เพราะไปบนหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ที่นั่นที่โน่นเอาไว้
โคลงโลกนิติเตือนสติไว้ว่า –
๏ หมอแพทย์ทายว่าไข้…..ลมคุม
โหรว่าเคราะห์แรงรุม………โทษให้
แม่มดว่าผีกุม……………….ทำโทษ
ปราชญ์ว่ากรรมเองไซร้……ก่อสร้างมาเอง๚ะ๛
(ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ บทที่ ๑๓๓)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผลกรรมที่ตำตา อย่ามองหาว่าใครทำ
: ตัวกูแหละทำกรรม จะสูงต่ำก็กรรมกู
8-1-60