ธนาณัติ (บาลีวันละคำ 2,113)
ธนาณัติ
อ่านว่า ทะ-นา-นัด
ประกอบด้วยคำว่า ธน + อาณัติ
(๑) “ธน”
บาลีอ่านว่า ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ธนฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อ ปัจจัย
: ธนฺ + อ = ธน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้คนออกเสียงว่าเป็นของเรา” (คือแสดงความเป็นเจ้าของด้วยความชื่นชม)
(2) ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ ปัจจัย, แปลง ช เป็น ธ
: ชนฺ + อ = ชน > ธน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งยังภาวะคนจนให้เกิด” (คำแปลนี้ฟังเหมือนขัดแย้ง คือถ้ามี “ธน” ความจนก็จะไม่เกิด แต่มองในมุมกลับก็คือ “เพราะไม่มีสิ่งนี้ จึงทำให้มีคนจน”)
“ธน” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ทรัพย์สมบัติ, โดยปกติได้แก่ทรัพย์สินเงินทอง, ความร่ำรวย, สมบัติ (wealth, usually wealth of money, riches, treasures)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธน, ธน– : (คำนาม) ทรัพย์สิน. (ป., ส.).”
(๒) “อาณัติ”
บาลีเป็น “อาณตฺติ” อ่านว่า อา-นัด-ติ รากศัพท์มาจาก จาก อาณฺ (ธาตุ = ส่งไป) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ตฺติ
: อาณ + ติ = อาณติ > อาณตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องส่งไป” (คือส่งอำนาจที่มีอยู่เหนือสิ่งนั้นๆ ไปบังคับ)
“อาณตฺติ” หมายถึง อาณัติ, บัญญัติ, กฎ, คำสั่งหรือคำสั่งห้าม, คำบงการ (order, command, ordinance, injunction)
“อาณตฺติ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งตามหลักนิยม ใช้เป็น “อาณัติ” (อา-นัด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาณัติ : (คำนาม) ข้อบังคับ, คําสั่ง, กฎ, เครื่องหมาย; การมอบหมายให้ดูแลปกครอง เช่น อาณาเขตในอาณัติ ดินแดนในอาณัติ. (ป. อาณตฺติ).”
ธน + อาณัติ = ธนาณัติ แปลเอาความตามศัพท์ว่า “คำสั่งจ่ายเงิน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธนาณัติ : (คำนาม) การส่งเงินทางไปรษณีย์ โดยผู้ส่งมอบเงินไว้ ณ ที่ทําการไปรษณีย์แห่งหนึ่งแล้วเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ออกตราสารสั่งให้ที่ทําการไปรษณีย์อีกแห่งหนึ่งจ่ายเงินให้แก่ผู้รับ; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ตราสารซึ่งที่ทําการไปรษณีย์แห่งหนึ่งสั่งให้ที่ทําการไปรษณีย์อีกแห่งหนึ่งจ่ายเงิน. (ป. ธน + อาณตฺติ).”
หนังสือ “ไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2557” จัดทาโดยคณะกรรมการกิจการไปรษณีย์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในหมวด 8 บริการธนาณัติ ข้อ 126 อธิบายไว้ว่า –
“บริการธนาณัติ หมายถึง บริการที่บริษัทรับฝากเงินจากผู้ฝากส่ง ณ ที่ทำการแห่งหนึ่งแล้วดำเนินการออกตราสารสั่งจ่ายเงินซึ่งเรียกว่าธนาณัติ หรือออกคำสั่งให้ที่ทำการแห่งใดแห่งหนึ่งจ่ายเงินหรือออกตราสารสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้รับที่มีนามระบุในตราสารนั้น”
และในข้อ 129 บอกไว้ว่า ธนาณัติในประเทศแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ –
1 ไปรษณีย์ธนาณัติธรรมดา คือ ธนาณัติที่ส่งไปให้ผู้รับทางบริการไปรษณีย์รับรอง
2 ไปรษณีย์ธนาณัติด่วนพิเศษ คือ ธนาณัติที่ส่งไปให้ผู้รับทางบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ
3 ธนาณัติอิเล็กทรอนิกส์ คือ ธนาณัติที่ส่งไปให้ผู้รับทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์
อภิปราย :
เมื่อประชาชนหันมาใช้วิธีโอนเงินให้กันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้บริการธนาณัติชนิดที่ใช้แผ่นกระดาษคงจะหายไปจากกิจการไปรษณีย์ เช่นเดียวกับบริการรับส่งโทรเลขที่คนสมัยนี้แทบจะไม่รู้จักกันอีกแล้ว
…………..
ดูก่อนภราดา!
ชีวิตที่ได้กำไร : ใช้เงินแสวงหาบุญ
ชีวิตที่ขาดทุน : ใช้บุญแสวงหาเงิน
#บาลีวันละคำ (2,113)
26-3-61