บาลีวันละคำ

อลังการ (บาลีวันละคำ 680)

อลังการ

อ่านว่า อะ-ลัง-กาน

เราคงเคยได้ยินหรือเคยพูดคำว่า “อลังการ” มาแล้ว เช่น

– งานสัปดาห์หนังสือจัดขึ้นอย่างอลังการ

– ฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้สุดอลังการ

เราเข้าใจกันว่า “อลังการ” คือ งดงาม

จริงๆ แล้ว “อลังการ” แปลว่าอะไร ?

อลังการ” บาลีเป็น “อลงฺการ” (อลํการ ก็มี) อ่านว่า อะ-ลัง-กา-ระ

อลงฺการ” รากศัพท์คือ อลํ + การ (= การกระทำ)

อลํ” (อะ-ลัง) มีความหมายหลายนัย เช่น –

(1) พอละ, พอกันที

(2) อย่าเลย (อย่าทำ หรืออย่าคิดเช่นนั้นเลย)

(3) เป็นการสมควรที่จะ..(ทำ)..

(4) สามารถที่จะ ..(ทำ หรือเป็น)..ได้

อลงฺการ ตามรากศัพท์ จึงแปลว่า –

(1) “ทำให้พอ” หรือ “ทำให้พอใจ” = ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว เพราะพอแล้ว หรือเพราะพอใจแล้ว = ทำจนงามพอแล้ว

(2) “ทำให้ใช้ได้” = ทำจนดูดี ทำจนถูกใจ จนร้องออกมาว่า “ใช้ได้แล้ว”

(3) “อย่าทำ (อะไรอีก)” = ที่ทำไว้นี้ดีแล้ว อย่าไปแตะต้องอะไรอีก = งามดีแล้ว

(4) “เหมาะแล้วที่จะทำให้ (เป็นที่ถูกใจ)” = ที่เห็นสิ่งนั้นงามหรือดีนั้น เหมาะสมแล้ว

(5) “สามารถทำให้ (เป็นที่ถูกใจ) ได้” = ทำให้ยอมรับได้ว่างาม ว่าดี ว่าถูกต้องแล้ว

อลงฺการอลังการ” ตามความหมายสามัญที่เข้าใจกัน จึงหมายถึง การประดับ, เครื่องประดับ, การเสริมแต่ง, การตกแต่ง, การทำให้งาม ก็คือ การทำให้พอใจ ถูกใจนั่นเอง

พจน.54 บอกไว้ว่า –

อลังการ : (คำนาม) การตกแต่ง, การประดับ; เครื่องตกแต่ง, เครื่องประดับ.(คำวิเศษณ์) งามด้วยเครื่องประดับตกแต่ง”

ร่างกาย : ไม่แต่งอะไรเลย ก็อาจงามได้

จิตใจ : ไม่แต่งอะไรเลย ไม่งาม

28-3-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย