สนเทศ (บาลีวันละคำ 1,016)
สนเทศ
อ่านว่า สน-เทด
บาลีเป็น “สนฺเทส” อ่านว่า สัน-เท-สะ
“สนฺเทส” รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ทิสฺ (ธาตุ = ปรากฏ) + ณ ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น น, แผลง อิ เป็น เอ
: สํ > สนฺ + ทิสฺ = สนฺทิส > สนฺเทส แปลตามศัพท์ว่า “เนื้อความที่ปรากฏชัดเจน” หมายถึง ข่าว, สาส์น, ใบบอก, ความชัดเจน, ความแจ่มแจ้ง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สนฺเทส” ว่า news, message
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“สนฺเทศ : (คำนาม) ‘สันเทศ,’ ข่าว; news, information.”
พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกคำแปลคำอังกฤษทั้ง 3 คำไว้ดังนี้ :
(1) news :
เรื่องใหม่, ข่าว, ความรู้ใหม่, เรื่องแปลก
(2) message :
1. คำพูดที่ฝากไปให้, จดหมายที่ฝากไปให้ผู้อื่น, สาร, ถ้อยคำ, ข่าวคราว, ข่าวโทรเลขโทรศัพท์
2. พระราชดำรัส
(3) information :
1. แจ้งให้ทราบ, บอก, เรื่องที่บอก
2. ข่าว
3. ความรู้, ให้ความรู้, ข้อความ
4. ฟ้อง
“สนฺเทส” ใช้ในภาษาไทยว่า “สนเทศ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “สนเทศ” เก็บไว้ดังนี้ :
(1) สนเทศ : (คำนาม) คําสั่ง, ข่าวสาร, ใบบอก. (ส.; ป. สนฺเทส).
(2) สารสนเทศ : (คำนาม) ข่าวสาร; การแสดงหรือชี้แจงข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ. (ส. สาร + สนฺเทศ; ป. สาร + สนฺเทส).
เฉพาะคำว่า “สารสนเทศ” พจน.54 บอกคำอ่านไว้ 2 แบบ คืออ่านว่า สา-ระ-สน-เทด และ สาน-สน-เทด
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอแนะนำว่า แม้ พจน.54 จะบอกไว้อย่างนั้น แต่ควรช่วยกันอ่านว่า สา-ระ-สน-เทด อย่าอ่านว่า สาน-สน-เทด เลย เพราะอ่านอย่างหลังนั้นเป็นการอ่านแบบ “รัก” ง่าย และไม่ได้แสดงถึงความจำเริญทางภาษาแต่อย่างใดเลย
: ร้อยคำที่บอกกล่าวให้ฟัง ไม่เท่าหนึ่งครั้งที่ทำให้ดู
—————-
(ตามคำถามของพระคุณท่าน Uthakapintu Wyp)
28-2-58