บาลีวันละคำ

บัตรสนเทห์ (บาลีวันละคำ 1,017)

บัตรสนเท่ห์

อ่านว่า บัด-สน-เท่

ประกอบด้วย บัตร + สนเท่ห์

(๑) “บัตร

บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน” หมายถึง ใบไม้

ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บัตร” แปลว่า ใบ, แผ่น, ใบหนังสือ, จดหมาย, ลายลักษณ์อักษรทั่วไป

เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า “ปตฺตบัตร

ในภาษาไทย คำว่า “บัตร” ใช้ต่อท้าย “คำศัพท์” ที่เป็นบาลีสันสกฤตด้วยกัน เช่น นามบัตร สิทธิบัตร ประกาศนียบัตร มรณบัตร อนุโมทนาบัตร

ถ้าใช้คำว่า “บัตร” นำหน้า คำตามหลังจะเป็นคำแสดงลักษณะของบัตรนั้นๆ และไม่จำเป็นต้องเป็นคำบาลีสันสกฤต เช่น บัตรประจำตัว บัตรเครดิต บัตรสนเท่ห์

(๒) “สนเท่ห์

บาลีเป็น “สนฺเทห” (สัน-เท-หะ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ทิหฺ (ธาตุ = สงสัย) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น , แผลง อิ เป็น เอ

: สํ > สนฺ + ทิหฺ = สนฺทิห > สนฺเทห แปลตามศัพท์ว่า “ความสงสัย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สนฺเทห” ว่า :

(1) accumulation; the human body (การสะสม; ร่างกายมนุษย์)

(2) doubt (ความสงสัย)

ในที่นี้ “สนฺเทห” หมายถึง ความสงสัย, ความระแวงแคลงใจหรือความไม่แน่ใจ (doubt, uncertainty)

สนฺเทห” ใช้ในภาษาไทยว่า “สนเท่ห์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

สนเท่ห์ : (คำกริยา) สงสัย, ฉงน, ไม่แน่ใจ, เช่น รู้สึกสนเท่ห์, มักใช้เข้าคู่กับคำ ฉงน เป็น ฉงนสนเท่ห์. (ป., ส. สนฺเทห).”

บัตร + สนเทห์ = บัตรสนเทห์ เป็นคำบาลีสันสกฤตที่ผสมกันแบบไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

บัตรสนเท่ห์ : (คำนาม) จดหมายฟ้องหรือกล่าวโทษผู้อื่นโดยมิได้ลงชื่อหรือไม่ลงชื่อจริงของผู้เขียน.”

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า “บัตรสนเท่ห์” เป็นอังกฤษว่า an anonymous letter

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล anonymous เป็นบาลีว่า :

aññātanāma อญฺญาตนาม (อัน-ยา-ตะ-นา-มะ) = ไม่ทราบชื่อ

apākaṭanāma อปากฏนาม (อะ-ปา-กะ-ตะ-นา-มะ) = ไม่ปรากฏชื่อ

และแปล letter เป็นบาลีว่า :

akkhara อกฺขร (อัก-ขะ-ระ) = ตัวหนังสือ

sāsana สาสน (สา-สะ-นะ) = ข่าว, จดหมาย

vaṇṇa วณฺณ (วัน-นะ) = ลายลักษณ์อักษร

sandesa สนฺเทส (สัน-เท-สะ) = คำบอกกล่าว

lipi ลิปิ (ลิ-ปิ) = ตัวหนังสือ

…………..

“จดหมายฟ้องหรือกล่าวโทษผู้อื่นโดยมิได้ลงชื่อหรือไม่ลงชื่อจริงของผู้เขียน”

อังกฤษ : anonymous letter

บาลี :

อญฺญาตนามสาสน (จดหมายที่ไม่ทราบนามผู้เขียน)

อปากฏนามสาสน (จดหมายที่ไม่ปรากฏนาม)

ไทย : บัตรสนเท่ห์

…………..

บัตรสนเท่ห์ :

: ถ้าผู้รับซื่อตรง ผู้ส่งก็ไม่ควรกลัว

: ถ้าผู้รับไม่ซื่อตรง ผู้ส่งก็ต้องระวังตัว

1-3-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย