เมรุ, เมรุ- (บาลีวันละคำ 4,530)

เมรุ, เมรุ–
ช่วยกันอ่านให้ถูก
“พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัด (ชื่อวัด)…”
ข้อความนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ยินข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานแห่งหนึ่งที่รับผิดชอบเรื่องภาษา อ่านว่า … นะ เม-รุ วัด …
เข้าใจว่าหลาย ๆ คน ก็จะอ่านแบบเดียวกันนี้ จึงขอถือเป็นโอกาสที่จะทำความเข้าใจเรื่องการอ่านคำว่า “เมรุ”
หาความรู้เกี่ยวกับรากศัพท์ก่อน
“เมรุ” บาลีอ่านว่า เม-รุ รากศัพท์มาจาก –
(1) มิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + รุ ปัจจัย, แผลง อิ (ที่ มิ) เป็น เอ (มิ > เม)
: มิ + รุ = มิรุ > เมรุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภูเขาที่เบียดบังภูเขาทั้งหมดด้วยความสูงกว่าของตน” (2) “ภูเขาที่เบียดเบียนความมืดด้วยรัศมี”
(2) เม (ธาตุ = แลกเปลี่ยน) + รุ ปัจจัย
: เม + รุ = เมรุ แปลตามศัพท์ว่า “ภูเขาเป็นที่แลกเปลี่ยนความอภิรมย์กันแห่งพวกเทวดา”
“เมรุ” เป็นชื่อภูเขากลางจักรวาล คัมภีร์บรรยายว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตั้งอยู่บนยอดเขาลูกนี้
บาลี “เมรุ” สันสกฤตก็เป็น “เมรุ” เช่นกัน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “เมรุ” ไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“เมรุ : (คำนาม) ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ในท่ามกลางเจ็ดทวีป, ชาวฮินดูกล่าวว่ามียอดสูง ๘๔,๐๐๐ โยชน์; แม่น้ำคงคาไหลจากสวรรค์บนยอดภูเขานั้น, และไหลจากนั้นไปยังปริสรสถโลกเปนลำน้ำสี่สาย, เทวดาประจำทิศตั้งรักษามุขต่างๆ แห่งบรรพตนั้น, สากลย์นั้นๆ ล้วนแล้วไปด้วยสุวรรณและมณี; the sacred mountain in the centre of the seven continents, whose height said by Hindus to be 84,00 yojanas; the river Ganges falls from heaven on its summit, and flows thence to the surrounding worlds in four streams, the regents of the points of the compass occupy the corresponding face of the mountain, the whole of which consist of gold and gems.”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “เมรุ” อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
1. ชื่อภูเขาที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล บางทีเรียกพระสุเมรุ ตามคติของศาสนาฮินดู ถือว่าเป็นบริเวณที่มีสวรรค์อยู่โดยรอบ เช่น สวรรค์ของพระอินทร์อยู่ทางทิศเหนือ ไวกูณฐ์แดนสถิตของพระวิษณุหรือพระนารายณ์อยู่ทางทิศใต้ ไกลาสที่สถิตของพระศิวะหรือพระอิศวรก็อยู่ทางทิศใต้ เหนือยอดเขาพระสุเมรุนั้น คือ พรหมโลก เป็นที่สถิตของพระพรหม; ภูเขานี้เรียกชื่อเป็นภาษาบาลีว่า สิเนรุ และตามคติฝ่ายพระพุทธศาสนา ในชั้นอรรถกถา ยอดเขาสิเนรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอินทร์ เชิงเขาสิเนรุ ซึ่งหยั่งลึกลงไปในมหาสมุทรเป็นอสูรพิภพ สูงขึ้นไปกึ่งทางระหว่างแดนทั้งสองนั้น เป็นสวรรค์ของท้าวจาตุมหาราช สวรรค์ชั้นอื่น ๆ และโลกมนุษย์เป็นต้น ก็เรียงรายกันอยู่สูงบ้างต่ำบ้างรอบเขาสิเนรุนี้ (ในวรรณคดีบาลียุคหลัง เช่น จูฬวงส์ พงศาวดารลังกา เรียก เมรุ และ สุเมรุ อย่างสันสกฤตก็มี)
2. ที่เผาศพ หลังคาเป็นยอด มีรั้วล้อมรอบ ซึ่งคงได้คติจากภูเขาเมรุนั้น
…………..
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำที่ขึ้นต้นด้วย “เมรุ” ไว้ 4 คำ ดังนี้ –
…………..
(1) เมรุ, เมรุ–
คำหน้าเขียนว่า “เมรุ” อ่านว่า เมน
คำหลังเขียนว่า “เมรุ-” มีขีด – ท้าย หมายถึงมีคำอื่นมาต่อท้ายเป็นคำสมาส อ่าน เม-รุ-
เมรุ, เมรุ– : (คำนาม) ชื่อภูเขากลางจักรวาล มียอดเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งพระอินทร์อยู่; ที่เผาศพ เดิมผูกหุ่นทำเป็นภูเขาเลียนแบบเขาพระสุเมรุ ซึ่งตั้งที่เผาขึ้นบนนั้น ของหลวงทำเป็นเรือนโถง เครื่องยอดหรือมณฑปครอบที่เผา เรียกว่า พระเมรุ, ต่อมาเรียกที่เผาศพทั่วไปทั้งมียอดและไม่มียอด ว่า เมรุ. (ป.).
(2) เมรุทอง
มีคำว่า “ทอง” มาต่อท้ายเป็นคำประสมแบบไทย ไม่ใช่คำสมาส อ่านว่า เมน-ทอง ไม่ใช่ เม-รุ-ทอง
เมรุทอง : (คำนาม) เมรุขนาดเล็ก มีรูปทองอย่างบุษบก สร้างอยู่ภายในพระเมรุมาศ ประดิษฐานพระโกศทรงพระบรมศพเพื่อถวายพระเพลิง เรียกว่า พระเมรุทอง.
(3) เมรุมาศ
มีคำว่า “มาศ” มาต่อท้ายเป็นคำสมาส อ่านว่า เม-รุ-มาด ไม่ใช่ เมน-มาด
เมรุมาศ : (คำนาม) สิ่งปลูกสร้างโดยขนบนิยมอย่างไทย มีลักษณะเป็นเครื่องยอดขนาดใหญ่ สูง สำหรับประดิษฐานพระบรมศพ ภายในมีพระเมรุทองซึ่งมีรูปทรงอย่างบุษบกขนาดเล็ก เป็นที่ประดิษฐานพระโกศทรงพระบรมศพสำหรับถวายพระเพลิง ราชาศัพท์ใช้ว่า พระเมรุมาศ.
(4) เมรุราช
มีคำว่า “ราช” มาต่อท้ายเป็นคำสมาส อ่านว่า เม-รุ-ราด ไม่ใช่ เมน-ราด
เมรุราช : (คำนาม) เขาพระสุเมรุ. (ป.).
…………..
“เมรุ” อ่านอย่างไร :
ดูวิธีเขียนคำตั้งหรือ “แม่คำ” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะเห็นว่า พจนานุกรมฯ เขียนว่า เมรุ, เมรุ– และบอกคำว่า เมน, เม-รุ-
หมายความว่า –
1. ถ้าอยู่โดด ๆ ไม่ได้สมาสกับคำอื่น หรือสมาสกับคำอื่น แต่อยู่ท้ายคำ อ่านว่า เมน เช่น –
“ขอเชิญขึ้นทอดผ้าบังสุกุลบนเมรุ”
พูดว่า ขอเชิญขึ้นทอดผ้าบังสุกุลบน เมน
ไม่ใช่ ขอเชิญขึ้นทอดผ้าบังสุกุลบน เม-รุ
“ออกพระเมรุ”
อ่านว่า ออก-พฺระ-เมน
ไม่ใช่ ออก-พฺระ-เม-รุ
2. ถ้าเป็นคำสมาส อยู่ต้นคำหรือกลางคำ อ่านว่า เม-รุ เช่น –
“เมรุมาศ”
อ่านว่า เม-รุ-มาด
ไม่ใช่ เมน-มาด
“พระเมรุมาศ”
อ่านว่า พฺระ-เม-รุ-มาด
ไม่ใช่ พฺระ-เมน-มาด
3. ถ้ามีคำอื่นมาต่อท้ายในลักษณะเป็นคำประสมแบบไทย ไม่ใช่คำสมาส อ่านว่า เมน ไม่ใช่ เม-รุ เช่น –
“พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดมหาธาตุ”
อ่านว่า –เมน-วัด-มะ-หา-ทาด
ไม่ใช่ –เม-รุ-วัด-มะ-หา-ทาด
“เมรุชั่วคราว”
อ่านว่า เมน-ชั่ว-คฺราว
ไม่ใช่ เม-รุ-ชั่ว-คฺราว
แถม :
มีคำมาต่อท้าย จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นคำสมาสหรือเป็นคำประสม?
วิธีสังเกต
1 ถ้าคำที่มาต่อท้าย เป็นคำบาลีสันสกฤตด้วยกัน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นคำสมาส
อ่านว่า เม-รุ-
2 ถ้าคำที่มาต่อท้าย เป็นคำไทย หรือคำที่มาจากภาษาอื่น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นคำประสม
อ่านว่า เมน
…………..
ถาม: แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นคำบาลีสันสกฤต
ตอบ: เรียนบาลี
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าคิดว่า อ่านผิดหรืออ่านถูกก็ตายทั้งนั้น
: ก็ไม่ต้องกิน
: เพราะกินหรือไม่กินก็ตายทั้งนั้น
#บาลีวันละคำ (4,530)
6-11-67
…………………………….
…………………………….