การศึกษาที่รอพระมาโปรด

การศึกษาที่รอพระมาโปรด
—————————
เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวการแต่งตั้งอธิการบดีรูปใหม่ของ มจร (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย) แทนรูปเดิมซึ่งพ้นวาระ
มีผู้แสดงความยินดีกันโดยทั่วหน้า ในฐานะที่เราได้พระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารการศึกษาของคณะสงฆ์
ผมก็ร่วมแสดงความยินดีด้วยคนหนึ่ง
…………………
เคยมีข้อถกเถียงกันว่า มจร เป็นสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์หรือเปล่า
ขยายความเป็นคำถามว่า การศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง คือ มจร และ มมร (มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย) เป็นการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย-แบบเดียวกับการเรียนนักธรรม เรียนบาลี ที่คณะสงฆ์มีแม่กองธรรมและแม่กองบาลีเป็นผู้รับผิดชอบ (เฉพาะการจัดการสอบ) นั่นหรือเปล่า
หมายความว่า คณะสงฆ์ไทยเป็นผู้บริหารจัดการ มจร และ มมร หรือเปล่า
หรือทั้ง ๒ แห่งนั้นเป็นแต่เพียงสถาบันการศึกษาที่มีพระสงฆ์เป็นผู้บริหาร (เวลานี้มีฆราวาสร่วมเป็นผู้บริหารด้วย) ส่วนการดำเนินกิจการต่างๆ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยที่คณะสงฆ์ไทยไม่ได้มีส่วนร่วม เช่นร่วมกำหนดนโยบายหรือร่วมกำหนดทิศทางในการจัดการศึกษาแต่ประการใด
ถามให้เข้าใจชัดๆ ว่า มจร และ มมร จะบริหารการศึกษาอย่างไรต้องได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมก่อน-อย่างนี้ ใช่หรือไม่
หยุดประเด็นนี้ไว้แค่นี้ เพราะคำตอบย่อมเป็นไปตามข้อเท็จจริงในกฎหมายหรือระเบียบอะไรสักอย่างที่ระบุไว้ เอาตัวนั้นมาตอบ ก็จบ
ผมไม่ได้ประสงค์จะพูดประเด็นนั้น เพียงแต่ยกขึ้นเป็นหัวม้วน แต่ตั้งใจจะพูดอีกประเด็นหนึ่ง-ซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์ด้วยเช่นกัน
สาเหตุที่อยากพูดก็คือ เราชื่นชมยินดีการที่พระสงฆ์บริหารจัดการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ผลิตบัณฑิตปริญญาตรี-โท-เอก ออกสู่สังคม และก้าวหน้าต่อไปอีกจนถึงระดับนานาชาติ-ซึ่งแน่นอน ย่อมควรแก่การชื่นชมยินดีโดยไม่ต้องสงสัย และไม่ควรสงสัย
แต่มีการศึกษาอีกระดับหนึ่งที่เราลืม-หรือควรจะพูดว่าคณะสงฆ์ลืมนึกถึงไปเสียสนิท นั่นคือ การศึกษาสำหรับชาวพุทธในระดับรากหญ้าของสังคมไทย
เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ ผมขอชวนให้มองใกล้ๆ จากประตูวัดออกไป หรือมองไปรอบๆ วัด
นั่นคือชาวพุทธระดับรากหญ้าที่ผมพูดถึง
คนพวกนี้มาทำบุญที่วัด มีกิจกรรมเกี่ยวกับเกิดแก่เจ็บตายก็เข้ามาที่วัด เรียกได้ว่าเป็นสมาชิกของวัด
ข้อเท็จจริงที่น่าตระหนกและควรตระหนักชนิดที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ชาวพุทธระดับรากหญ้าเหล่านี้มีความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาน้อยอย่างยิ่ง-ไม่ว่าจะในด้านไหน
พูดอย่างไม่เกรงใจก็ต้องพูดว่า ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแทบจะไม่กระดิกหูเอาเลยก็ว่าได้
ไม่ต้องดูอะไรมาก …
เมื่อเช้าใส่บาตรแล้วลืมกรวดน้ำ ถามว่าได้บุญหรือไม่
บ้านติดถนน สุนัขจรจัดมานอนหน้าประตูบ้าน เจ้าของบ้านเปิดประตูมาตั้งใจจะไล่ให้มันพ้นๆ ไป แต่สุนัขตกใจวิ่งเตลิดไปกลางถนน รถทับตาย ถามว่าเจ้าของบ้านบาปไหม และศีลขาดหรือไม่
วันพระ ชาวบ้านที่ถือศีลอุโบสถดมดอกไม้ในวัด ถามว่าศีลขาดหรือไม่
พระออกบิณฑบาต ทำไมไม่สวมรองเท้า
ฯลฯ
คำถามจากชีวิตประจำวันเหล่านี้ ผมลองถามมาแล้ว ชาวพุทธระดับรากหญ้าทั้งหลายตอบไม่ได้
ตอบได้ก็ไม่ถูก
ชาวพุทธที่เป็นกำลังหลักของสังคมไทยคือชาวพุทธระดับรากหญ้า ไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องพื้นฐานพวกนี้
น่าตระหนกหรือไม่
คำถามของผมคือ คณะสงฆ์ตระหนกและตระหนักถึงปัญหานี้บ้างหรือเปล่า
มีใครเคยถามกันบ้างหรือไม่ว่า ใครจะรับผิดชอบจัดการศึกษาให้คนเหล่านี้-ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม
ถามถอยไปอีกนิดหนึ่งว่า คณะสงฆ์คิดจะจัดการศึกษาให้คนเหล่านี้บ้างหรือไม่
ผู้บริหารการพระศาสนา-ไม่ว่าจะเป็นคณะสงฆ์หรือหน่วยงานของรัฐ-มองภาพออกหรือไม่ว่า ถ้าจะจัดการศึกษาให้คนเหล่านี้จะต้องทำอย่างไร
หรือคิดเป็นอยู่อย่างเดียวว่า ทำไม่ได้
หรือคิดเป็นอยู่อย่างเดียวว่า ไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้า
………………..
หลายท่านอาจจะตอบว่า-ก็ธรรมศึกษา (รวมทั้งบาลีศึกษา) นั่นไง คณะสงฆ์ทำอยู่แล้ว
ขอประทานโทษ นั่นไม่ใช่การจัดการศึกษานะครับ
ที่ทำอยู่นั้น คณะสงฆ์ทำเพียงแค่จัดการสอบเท่านั้น-เท่านั้นจริงๆ
เป็นการจัดการสอบเพื่อเอาสถิติมาแสดงกันว่ามีผู้สมัครเข้าสอบธรรมศึกษาปีละเท่าไร และสอบได้ปีละเท่าไร
ก่อนสอบ คนเหล่านั้นเรียนกันอย่างไร หลังสอบแล้วไปทำอะไร คณะสงฆ์ไม่ได้จัดการอะไรให้ทั้งสิ้น คณะสงฆ์จัดการสอบเพียงอย่างเดียว
เรียกว่าเป็นการจัดการผลิตผู้สอบได้เท่านั้น แต่ไม่ได้มุ่งที่จะผลิตผู้มีความรู้จริงๆ
………………..
คณะสงฆ์เคยจัดตั้ง “หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล” เรียกชื่อย่อว่า อปต.
นั่นคือรูปแบบหนึ่งของการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาให้แก่ประชาชน ได้ยินว่าเป็นความดำริของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ฟื้น ชุตินธรมหาเถระ วัดสามพระยา
เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว อปต. ก็เหลือแต่ซาก
ท่ามกลางประชาชนรอบๆ วัดที่ยังคงไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอยู่เหมือนเดิม-และยิ่งขึ้นกว่าเดิม
………………..
เราจะภาคภูมิใจกับความสำเร็จในการจัดการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย-ที่สามารถผลิตบัณฑิตปริญญาตรี-โท-เอก ออกสู่สังคม และก้าวหน้าต่อไปอีกจนถึงระดับนานาชาติ-ได้เต็มที่ได้อย่างไร ถ้าชาวบ้านรอบๆ วัด คือชาวพุทธระดับรากหญ้าของสังคมยังไม่กระดิกหูแม้ในหลักความรู้ขั้นพื้นฐานของชาวพุทธแท้ๆ
ทุกวันที่ท่านออกจากวัดไปบริหารการศึกษา ณ สถาบันอันทรงเกียรติเพื่อผลิตบัณฑิตออกสู่สังคม
โปรดอย่าลืมคิดถึงชาวพุทธระดับรากหญ้ารอบๆ วัดด้วย
คนเหล่านี้คงไม่ต้องการเป็นบัณฑิตด้วยปริญญาบัตร
เขาต้องการแค่ความรู้ความเข้าใจในหลักพระธรรมวินัยอันเป็นพื้นฐานของชาวพุทธธรรมดาๆ เพื่อเป็นบัณฑิตในพระพุทธศาสนาตามความหมายที่ถูกต้องเท่านั้น
ชาวพุทธระดับรากหญ้าในสังคมไทยกำลังรอผู้บริหารการศึกษาที่จะมาช่วยยกฐานะของเขาอยู่รอบๆ วัดนั่นเอง
ถ้าพอมีเวลา ก็ขอความเมตตาไปโปรดคนเหล่านี้บ้างเถิด
………….
วันที่ ๖๕ เบื้องหน้าแต่พรรษากาล
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓๐ กันยายน ๒๕๖๑
๑๑:๑๙