บาลีวันละคำ

พยากรณ์ (บาลีวันละคำ 1,024)

พยากรณ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พยากรณ์ : (คำกริยา) ทํานายหรือคาดการณ์โดยอาศัยหลักวิชา. (คำนาม) ชื่อคัมภีร์โหราศาสตร์ว่าด้วยการทํานาย. (ป., ส. วฺยากรณ).”

“(ป., ส. วฺยากรณ)” ในวงเล็บหมายความว่า รูปคำนี้เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต

คำบาลีสันสกฤตที่เอามาใช้ในภาษาไทย บางคำ เช่น “ธรรม” บาลีเป็นรูปหนึ่ง คือเป็น “ธมฺม” สันสกฤตเป็นอีกรูปหนึ่ง คือเป็น “ธรฺม

แต่ “พยากรณ์” ทั้งบาลีและสันสกฤตเป็น “วฺยากรณ” เหมือนกัน

พยากรณ์” บาลีเป็น “วฺยากรณ” (วฺยา-กะ-ระ-นะ) รากศัพท์มาจาก วิ (แจ้ง) + อา (ทั่วไป) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ วิ) เป็น , แปลง ยุ เป็น อน, แปลง เป็น

: วิ > วฺย + อา = วฺยา + กรฺ = วฺยากร + ยุ > อน = วฺยากรน > วฺยากรณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “เครื่องมืออันท่านอาศัยแยกศัพท์ออกตามรูปของตน” (2) “คัมภีร์ที่ท่านอาศัยจำแนกศัพท์ทั้งหลายออกเป็นรูปปกติ” (3) “การอันเขาทำให้แจ่มแจ้งโดยพิเศษ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

วฺยากรณ : (คำนาม) ‘วยากรณ์,’ ไวยากรณ์; การชี้แจ้ง, การแสดงไข; grammar; explaining, expounding.”

วฺยากรณ” หมายถึง :

(1) การตอบคำถาม, การอธิบาย, การไขความ (answer, explanation, exposition)

(2) ไวยากรณ์ (grammar)

(3) การทำนาย (prediction)

กฎหรือวิธีตอบข้อสงสัยตามหลักในพระพุทธศาสนา :

(1) เอกังสพยากรณ์ = ตอบตรงๆ หรือตอบเป็นคำขาดไม่อ้อมค้อม

(2) ปฏิปุจฉาพยากรณ์ = ย้อนถามให้ผู้ถามชี้ประเด็นออกมาก่อน

(3) วิภัชชพยากรณ์ = ตอบแบบแยกประเด็น

(4) ฐปนียพยากรณ์ = ตอบโดยไม่ตอบ เพราะเห็นว่าไร้สาระ หรือเห็นว่าผู้ถามไม่ได้ถามเพราะต้องการคำตอบ แต่ถามหาเรื่อง

กฎหรือวิธีตอบแต่ละอย่างต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับความสงสัยแต่ละเรื่อง

ไม่ใช่ทุกอย่างใช้ได้กับความสงสัยทุกเรื่อง

: ตอบถูกกฎ หมดสงสัย

: ตอบไม่ถูกวิธี ทวีสงสัย

8-3-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย