บาลีวันละคำ

อิกขณิกา (บาลีวันละคำ 4,550)

อิกขณิกา

คืออะไรหรือคือใคร

อ่านว่า อิก-ขะ-นิ-กา

อิกขณิกา” เขียนแบบบาลีเป็น “อิกฺขณิกา” (อิกฺ– มีจุดใต้ กฺ) อ่านว่า อิก-ขะ-นิ-กา รากศัพท์มาจาก อิกฺขณ + อิ ปัจจัย + สกรรถ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(ก) “อิกฺขณ” อ่านว่า อิก-ขะ-นะ รากศัพท์มาจาก อิกฺขฺ (ธาตุ = ดู, เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: อิกฺข + ยุ > อน = อิกฺขน > อิกฺขณ แปลตามศัพท์ว่า “การเห็น” (seeing) 

(ข) อิกฺขณ + อิ ปัจจัย + สกรรถ (กะ-สะ-กัด) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อิกฺขณ + อิ = อิกฺขณิ + = อิกฺขณิก + อา = อิกฺขณิกา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีวิธีดูโชคดีและโชคร้าย” 

ขยายความ :

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “อิกฺขณิกา” ว่า แม่มด, หญิงทรงเจ้า 

ทั้งรูปศัพท์และคำแปลชี้ชัดว่า ศัพท์นี้เป็นอิตถีลิงค์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ รูปคำนี้เป็น “อิกฺขณิก” (ไม่ระบุว่าเป็นอิตถีลิงค์) แปลเป็นอังกฤษว่า a fortuneteller

พจนานุกรม บาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ (ซึ่งใช้พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เป็นต้นฉบับ) แปล a fortuneteller ว่า ผู้ทำนายโชคชะตา

พจนานุกรม สอ เสถบุตร (ฉบับที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้อยู่) ไม่มีคำว่า fortuneteller แค่มีคำว่า fortune และ teller

คำว่า  fortune พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลเป็นไทยว่า –

1. เคราะห์, โชคชะตา, โชคลาภ, เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ซึ่งมีล้อเป็นเครื่องหมาย 

2. มรดก, กองทรัพย์สมบัติ, คนมั่งมี

คำว่า teller พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลเป็นไทยว่า –

1. ผู้บอก, ผู้เล่า 

2. คนนับคะแนนเสียงในสภา 

3. พนักงานรับและจ่ายเงิน

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล fortune เป็นบาลีดังนี้: 

(1) bhāgya ภาคฺย (พาก-เคียะ) = ความมีโชคดี

(2) bhāgadheyya ภาคเธยฺย (พา-คะ-เทย-ยะ) = ผู้มีโชคดี

(3) subha สุภ (สุ-พะ) = ความงาม, ความดี

(4) maṅgala มงฺคล (มัง-คะ-ละ) = มงคล, ความเจริญก้าวหน้า

(5) kalyāṇa กลฺยาณ (กัน-เลีย-นะ) = ความงาม, ความดี

(6) sampatti สมฺปตฺติ (สำ-ปัด-ติ) = ความสุขสมบูรณ์

(7) lakkhī ลกฺขี (ลัก-ขี) = มีโชคดี

(8 ) siri สิริ (สิ-ริ) = ความรุ่งเรือง

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี มีคำว่า fortune-teller แปลเป็นบาลีดังนี้: 

(1) nemittika เนมิตฺติก (นิ-มิด-ติ-กะ) = ผู้ทำนายนิมิต

(2) ikkhaṇika อิกฺขณิก (อิก-ขะ-นิ-กะ) = ผู้มองเห็น (สิ่งที่จะเกิดขึ้น)

ในคัมภีร์วินัยปิฎก มีเรื่องพระมหาโมคคัลลานะเห็นเปรตหลายตนหลายวาระที่ภูเขาคิชฌกูฏ เปรตตนหนึ่งพระพุทธองค์ตรัสรับรองว่า เคยเป็น “อิกฺขณิกา” 

คำที่เป็นพระพุทธดำรัสในพระไตรปิฎกว่าดังนี้ –

…………..

เอสา  ภิกฺขเว  อิตฺถี  อิมสฺมึเยว  ราชคเห  อิกฺขณิกา  อโหสิ  ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรตหญิงนั้นเคยเป็นอิกขณิกาอยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง

ที่มา: จตุตถปาราชิกกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 295 หน้า 215 

…………..

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ขยายความพระบาลีตอนนี้ว่า –

…………..

สา  กิร  อิกฺขณิกากมฺมํ  ยกฺขทาสีกมฺมํ  กโรนฺตี  …

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 1 หน้า 749

…………..

คัมภีร์สมันตปาสาทิกาแปล ฉบับมหามกุฏฯ แปลไว้ว่า –

ได้ยินว่าหญิงนั้นทำหน้าที่เป็นแม่มด คือหน้าที่เป็นทาสีของยักษ์

…………..

ในคัมภีร์บาลี มีคำว่า “อิกฺขณิกา” หลายแห่ง เท่าที่พบเป็นรูปอิตถีลิงค์ และในเรื่องที่ปรากฏ “อิกฺขณิกา” เป็นสตรีเพศ

คัมภีร์ที่แปลเป็นไทยเท่าที่พบ แปล “อิกฺขณิกา” ว่า “หญิงแม่มด”

บาลีไวยากรณ์ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วจีวิภาคที่ 2 นามและอัพพยศัพท์ แสดงตัวอย่างศัพท์ที่เป็นอิตถีลิงค์ มีศัพท์ว่า “อิกฺขณิกา” แปลไว้ว่า “หญิงแม่มด”

…………..

อภิปรายแถม :

มีข้อถกเถียงว่า “อิกฺขณิกา” แปลว่า “หมอดู” ได้หรือไม่?

ว่าโดยรากศัพท์ “อิกฺขณิก” แปลว่า “หมอดู” ได้

แต่ว่าโดยรูปศัพท์ เท่าที่พบมีแต่ “อิกฺขณิกา” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ ถ้าแปลว่า “หมอดู” ก็มีข้อเยื้องแย้ง นั่นคือ หมอดูย่อมมีทั้งบุรุษเพศและสตรีเพศ การใช้ศัพท์ว่า “อิกฺขณิกา” เป็นการบังคับอยู่ในตัวว่า ผู้ที่ทำหน้าที่หรือทำงานของ “อิกฺขณิกา” ต้องเป็นสตรีเพศ ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงที่ว่าหมอดูย่อมมีทั้งบุรุษเพศและสตรีเพศ

วินิจฉัยอิงหลักไวยากรณ์ว่า –

ถ้าเป็นอิตถีลิงค์ คือ “อิกฺขณิกา” (ดังที่ปรากฏในคัมภีร์) แปลว่า “หญิงแม่มด” ตรงที่สุด

ถ้าเป็นปุงลิงค์ คือ “อิกฺขณิก” (เช่น “อิกฺขณิโก”) แปลว่า “หมอดู” ได้ แต่ยังไม่พบในคัมภีร์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คัมภีร์ไม่ได้บังคับให้ใครเชื่อแม้สักนิด

: และไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะบังคับให้ใครเชื่อคัมภีร์

: แต่ควรศึกษาเรียนรู้ให้ดีแล้วจึงเชื่อ

#บาลีวันละคำ (4,550)

26-11-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *